สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตอกย้ำความเชื่อมั่นให้บุคลากรในอาชีพด้วยมาตรฐานตราสัญลักษณ์ มอช โดยมุ่งเน้นให้คุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพของไทย สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของภาคอุตสาหกรรมตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0
นายนคร ศิลปอาชา ประธานกรรมการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ หรือ สคช. กล่าวว่า “สคช. ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ โดยมุ่งเน้นให้คุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพของประเทศไทย สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริงของภาคอุตสาหกรรม และสนองตอบนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ซึ่ง สคช.ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอาชีพจากทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนามาตรฐานอาชีพและนำไปใช้ได้จริง ซึ่ง สคช. ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับต่างประเทศ ทั้งประเทศเยอรมนี ออสเตรเลีย และในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อมุ่งผลักดันให้การรับรองระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ได้รับการยอมรับในระดับสากล และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการสร้างมาตรฐานในการประเมิน การรับรองสมรรถนะของบุคคล ให้มีความเป็นธรรม เป็นกลางและโปร่งใส เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ”
ด้านนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวถึง การยกระดับบุคลากรสู่สากลด้วย มอช ว่า เป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นต่อยอดในการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้แก่บุคลากรในอาชีพ ด้วยการใช้ตราสัญลักษณ์ “มอช” เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองบุคคลในอาชีพที่ได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยเริ่มจากการให้การรับรองหน่วยรับรองบุคคล ด้วยแนวทางตามมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป สำหรับหน่วยรับรองบุคลากร (ISO/IEC17024) เป็นมาตรฐานหลักในการดำเนินงานสำหรับทุกองค์กรที่มีหน้าที่รับรอง
“ที่ผ่านมา สคช. ได้จัดทำมาตรฐานอาชีพแล้วเสร็จ จำนวน 51 สาขาวิชาชีพ ครอบคลุมกว่า 600 อาชีพ โดยในกลุ่ม New S Curve อาทิ สาขา ICT ระบบราง พลังงานทดแทน การบิน โลจิสติกส์ หุ่นยนต์ การแพทย์ครบวงจรและกลุ่ม First S Curve อาทิ สาขาวิชาชีพท่องเที่ยวโรงแรม ภัตตาคาร การแปรรูปอาหาร เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น และได้ดำเนินการให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่บุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 40,000 คน ในหลากหลายสาขาวิชาชีพ ซึ่งบุคลากรอาชีพต่างๆ ที่ผ่านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ในอนาคตจะได้รับเครื่องหมาย “มอช” ด้วย
ซึ่งการจะได้รับมาตรฐาน “มอช” จากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพนั้น บุคลากรในอาชีพจะต้องเข้าสู่การประเมินคุณวุฒิวิชาชีพ ในมาตรฐานอาชีพต่างๆ ที่ สคช. ได้ดำเนินการจัดทำ โดยผ่านองค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพของ สคช. ทั่วประเทศ ที่ใช้แนวทางมาตรฐาน ISO/IEC 17024 ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่า บุคลากรในอาชีพต่างๆ ที่ได้เข้ารับการประเมินจาก สคช. จะผ่านขั้นตอนในการประเมินบุคคลอย่างมีมาตรฐานระดับสากล และมาตรฐาน “มอช” จะเป็นเครื่องหมายในการยืนยันบุคลากรในอาชีพที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งนายจ้าง ผู้ใช้บริการ และเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ
กล่าวคือ นายจ้างมั่นใจได้ว่าลูกจ้างสามารถทำงานได้อย่างมีสมรรถนะตามที่มาตรฐานอาชีพกำหนด ผู้ใช้บริการ จะเชื่อมั่นได้ว่า ผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้อย่างมีมาตรฐาน และเป็นหลักประกันกำลังของประเทศ ว่าเป็นผู้มีความสามารถตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งการใช้มาตรฐาน มอช จะเริ่มดำเนินการใช้ภายในช่วงกลางปี 2562 เพื่อเป็นเครื่องหมายยืนยันบุคลากรที่มีมาตรฐานอาชีพและได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน)” นายพิสิฐ กล่าว
ข่าวเด่น