ไอที
รัฐ-เอกชน ร่วมทดสอบ "เทคโนโลยี 5G อนาคตประเทศไทย"


บริษัทยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมทั้งยุโรปและเอเชีย  สนใจร่วมพัฒนา 5G TestBed ในพื้นที่ EEC ขณะที่ผู้ให้บริการในประเทศ เริ่มทยอยทดสอบ 5G 22 พ.ย.-15 ธ.ค. 61


 
 
 
 
นายพิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)  กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มีนโยบายส่งเสริมและเร่งรัดการใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย โดยระยะแรก มีแผนการจัดตั้ง 5G TestBed  ซึ่งเป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย Startups ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล บนเทคโนโลยี 5G โดยจะเป็น 5G TestBed ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย

 
 
 
 
สำหรับ 5G TestBed แห่งนี้  จัดตั้งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จะเป็นศูนย์กลางการทดสอบเทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย โดยมีแผนการทำการทดสอบภาคสนาม (5G Field Trials) ในกลางปี 2562 โดยการทดสอบการใช้ประโยชน์ 5G (5G Use Cases) อาทิ Tele Medicine , Smart Manufacturing , Smart Bus ตลอดจน Autonomous Vehicle         

โดยผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม 3 รายใหญ่ของโลก ได้แก่ อีริคสัน หัวเว่ย และโนเกีย รวมทั้ง Dassult ประเทศฝรั่งเศส ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านวิศวกรรมและการออกแบบด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ  แสดงความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่จริงที่จะใช้เป็น Test Lab พร้อมทำความตกลงว่าจะมีความร่วมมืออย่างไร เพื่อให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด และต่อไปจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย          

สาเหตุที่บริษัทต่างชาติสนใจเข้ามาร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี 5G กับไทย เพราะไทยมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นตัวดึงดูดการลงทุน โดยรัฐบาลจะใช้ EEC เป็นพื้นที่แห่งแรกๆ ของประเทศไทยในการใช้งาน 5G

 
 

 
 
 
 
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานบริหารคลื่นความถี่และภูมิภาค กล่าวว่า  สำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาคลื่นความถี่ย่านที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในเรื่องของ 5G เบื้องต้น ได้เสนอคลื่นความถี่ในย่านหลัก 3 คลื่น ได้แก่  ย่านความถี่ 3.4-3.6 GHz  ,26-28 GHz และ 7-9 GHz  โดยจากนี้จะร่วมมือกันทดสอบคลื่นย่านต่างๆ ว่าส่งสัญญาณรบกวนกับบริการเดิมที่มีอยู่หรือไม่ เช่น สัญญาณดาวเทียมโดยเฉพาะในย่านความถี่ C-Band โดยกำหนดระยะเวลาไว้ราว 6-9 เดือน  เพื่อให้ได้คลื่นความถี่ย่านที่เหมาะสมกับการใช้เทคโนโลยี 5G สำหรับประเทศไทย
 

 
 
 
 
ด้าน นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด คาดว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ในเชิงพาณิชย์มูลค่าตลาด 5G ของไทย มีมูลค่าสูงถึง 180,000 ล้านบาท จากการนำเทคโนโลยีไปใช้ ,การลงทุนเครือข่าย และการสร้างบริการใหม่ ซึ่งอีริคสันมองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม ใน 3 ประเภทแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต, พลังงาน และอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยสาธารณะ

 
ขณะที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คณะกรรมการ กสทช มีมติอนุญาตให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส, บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (บริษัทในเครือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE) สาธิต (Demonstration) เครื่องวิทยุคมนาคม สำหรับแสดงเทคโนโลยี 5G ในระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2561
 

LastUpdate 26/11/2561 14:33:56 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 7:33 pm