ทีเอ็มบีปรับประมาณการจีดีพีเติบโตปีนี้เป็น 4% จาก 4.5% และปีหน้าเติบโต 3.8% จากการส่งออก-การบริโภคที่โตชะลอลง พร้อมคงมุมมองกนง.ขึ้นดอกเบี้ยปลายปี1 ครั้งและปีหน้าอีก 1 ครั้ง เหตุเศรษฐกิจเริ่มชะลอ เตือนผู้ประกอบการรับมือการเคลื่อนย้ายเงินทุน กระทบเงินบาทผันผวนหนัก
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ทีเอ็มบีได้ปรับประมาณการจีดีพีไทยในปี 2561 จากเดิม 4.5% เป็น 4.0% รวมถึงเป้าหมายการส่งออกจาก 8.6% เป็น 7.4% จากการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง พร้อมกันนั้นได้ปรับเป้าหมายจีดีพีปี 2562 จากเดิม 4% เป็น 3.8% โดยการส่งออกยังเติบโตได้ไม่สูงเท่าก่อนหน้านี้ตามเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงจากสงครามการค้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังมีแรงกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมถึงการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อ ที่จะกดดันภาระหนี้ครัวเรือน แม้ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวในปีหน้า แต่ก็ไม่น่าจะมากพอที่จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าเติบโตเกินกว่า 4%
อย่างไรก็ตาม ในปี2562 เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากการลงทุนภาคเอกชน ที่ได้รับแรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เซ็นสัญญาไปแล้ว โดยได้คาดการณ์ว่า การลงทุนภาคเอกชนปีหน้าเติบโตที่ 5.4% จากปีนี้ที่เติบโต 3.8% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% จากปีนี้ที่ 4.7% และการลงทุนภาครัฐเติบโตที่ 7.7% จากปีนี้ที่ 5.1%
ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น TMB Analytics คงมุมมองที่คณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน(กนง.)จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ และปรับขึ้นได้อีก 1 ครั้งในปีหน้า ทำให้สิ้นปีหน้า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 2% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจปลายปีนี้และปีหน้าอยู่ในช่วงชะลอ หรือเลยช่วงขาขึ้นไปแล้ว ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยมีปัจจัยฉุดรั้งมากขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ระดับ 1.1%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงเป็นไปตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยกนง.จากสภาพคล่องที่ยังสูง เนื่องจากสินเชื่อยังเติบโตได้ไม่มากนัก โดยคาดการณ์สินเชื่อปีหน้าเติบโตที่ 5.8% จากปีนี้ที่ 6.3% จากกลุ่มเอสเอ็มอีและรายย่อยเป็นหลัก ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 2.8% จากปีนี้ที่ 2.9% โดยกลุ่มเอสเอ็มอียังมีสัดส่วนที่สูงประมาณ 54%ของเอ็นพีแอลรวม หรือคิดเป็น 4.4%ของสินเชื่อเอสเอ็มอีรวม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกลุ่มค้าขายที่จะได้รับจากพื้นที่ตลาดเปลี่ยน เนื่องจากการเข้ามาของการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ สินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วน 27% หรือคิดเป็น 2.6% มีปัจจัยที่ต้องจับตากรณีสินเชื่อเช่าซื้อรถที่สูงขึ้นมากในปีนี้ และสินเชื่อรายใหญ่มีสัดส่วน 19% หรือคิดเป็น 1.5%
สำหรับค่าเงินบาทในปีหน้ามีแนวโน้มอ่อนค่าลงและผันผวนมากขึ้น จากสภาพคล่องโลกที่ลดลงหลังประเทศเศรษฐกิจหลักทยอยปรับลดงบดุลลง และด้านเงินทุนเป็นไหลออกสุทธิ โดยคาดการณ์ค่าเงินบาทอาจแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และเฉลี่ยทั้งปีที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้ที่ 32.30 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวเด่น