“ก.ล.ต.” จัดสัมมนา Thailand SEC Policy Dialogue 2018: Regulating by Market Forces โดยมุ่งหวังให้กลไกตลาดมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนแทนที่จะใช้การออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว และนำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี เรื่อง พฤติกรรมการลงทุนและลักษณะผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดสัมมนาในหัวข้อ Thailand SEC Policy Dialogue 2018: Regulating by Market Forces ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพูดคุยเชิงนโยบายเกี่ยวกับการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ลงทุนสถาบัน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บริษัทจดทะเบียน และผู้ประกอบธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้กลไกตลาดมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนแทนที่จะใช้การออกกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว
งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศมาร่วมกันแสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญและประโยชน์ของผู้มีส่วนร่วมในตลาดในการพัฒนาตลาดทุน และร่วมเสนอแนะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การทำงานของผู้มีส่วนร่วมในตลาดมีประสิทธิภาพ อาทิ การมีข้อมูลที่มีคุณภาพ และการแข่งขันที่เป็นธรรม
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ตลาดทุนที่พัฒนาและมีการเติบโตอย่างยั่งยืนจะพึ่งพาการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยการเห็นประโยชน์และการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยตัวกิจการเอง รวมถึงแรงผลักดันจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด ด้วยการมีข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรมจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนไทยมีกลไกตลาดที่เข้มแข็ง และทำให้ตลาดทุนไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน”
ในงานนี้มีการนำเสนอผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปีจากการประกวดงานวิจัย SEC Working Papers Forum 2018 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ก.ล.ต. กับสถาบันการศึกษาและองค์กรชั้นนำ จัดให้มีการประกวดงานวิจัยทางวิชาการด้านตลาดทุนยอดเยี่ยมโดยเปิดรับผลงานจากบุคคลทั่วไปไม่ว่าจะเป็นบุคลากรทางตลาดทุนหรือนักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ โดยงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปีคืองานวิจัย เรื่อง “พฤติกรรมการลงทุนและลักษณะผลตอบแทนของกองทุนรวมหุ้นในประเทศไทย" ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ และ ดร.รุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น
นอกจากนี้ งานวิจัยได้พบประเด็นที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ (1) เมื่อนำความเสี่ยงเข้าไปปรับกับผลตอบแทนแล้ว กองทุนรวมหุ้นที่มีค่าธรรมเนียมบริหารจัดการสูงมีแนวโน้มที่จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด และผลการดำเนินงานที่ได้อาจไม่คุ้มค่ากับค่าธรรมเนียม (2) กองทุนรวมหุ้นในไทยส่วนใหญ่ไม่มีลักษณะเชิงรุกในการบริหารจัดการ (Active) และได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับตลาดโดยรวม จึงมีข้อสังเกตว่าผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับประโยชน์มากกว่าหากลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน (Passive)
และ (3) กองทุนรวมหุ้นในไทยเน้นลงทุนในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ ราคาตลาดต่อมูลค่าทางบัญชีที่สูง และหุ้นที่มี momentum สูง (หุ้นที่มีผลตอบแทนในอนาคตในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนในอดีต) แต่ผลการดำเนินงานของกองทุนไม่ได้สูงเหมือนผลตอบแทนของหุ้นที่กองทุนเข้าซื้อ สะท้อนว่ากองทุนอาจเป็นผู้เข้าซื้อหรือขายจนเป็นการไล่ราคาหุ้นแต่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้ประโยชน์ อย่างเต็มที่ ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2yu1I4U
งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลต่อการตัดสินใจลงทุน ซึ่งค่าธรรมเนียมนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญ เพราะมีผลต่อผลตอบแทนของผู้ลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบเรื่องนี้ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ของแต่ละกองทุน โดยผู้ลงทุนสามารถปรึกษาผู้แนะนำการลงทุนเพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ ข้อมูลอื่น ๆ อาทิ นโยบายการลงทุน การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกองทุน เงื่อนไขการลงทุน และการถือครองหลักทรัพย์ของกองทุนรวมก็เป็นข้อมูลที่สำคัญที่ต้องศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และความเสี่ยงที่รับได้ของผู้ลงทุน
“ก.ล.ต. เชื่อว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดทุน ด้วยการช่วยกันขับเคลื่อนพลังกลไกตลาดหรือ Market Forces เพื่อประโยชน์ในระยะยาวแก่ทุกคน” นายรพี กล่าวเสริม
ข่าวเด่น