ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 61 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 และจะชะลอลงไปเหลือที่ร้อยละ 3.7 ในปี 62 ซึ่งแม้จะลดลงและยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของประเทศ แต่นับว่ายังสูงกว่าช่วงหลายปีก่อนหน้า
ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณการค่าเงินบาทปลายปี 61 ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปี 62 ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยสำคัญคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่จากความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด จากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐที่ไม่น่าจะเร่งแรง
ด้านอัตราดอกเบี้ย มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.00 โดยธนาคารคาดว่า กนง.จะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส4 ของสภาพัฒน์ที่จะมีการรายงานในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก่อน ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้จะยังที่ร้อยละ 1.50 และปรับขึ้นครั้งแรกเดือนมีนาคม 62 ส่วนอีกครั้งในช่วงไตรมาสสามปี 62 แต่การขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่ว่าจะขึ้นช้าหรือเร็ว ก็ไม่น่ากระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วเหมือนในอดีต
ดร.อมรเทพ ยอมรับว่า ปี 2562 เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย เพียงแต่ทั้งคู่นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เช่น ตลาดเกิดใหม่จะยังคงผันผวนเหมือนปีนี้หรือไม่ หรือเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐชัดเจนแล้วว่าไม่รีบขึ้น เงินก็น่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ กรณีการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะเรียบร้อยดี หรือส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และอาจลามไปสู่ยุโรป แม้ยูโรโซนเองจะสงบขึ้น แต่ปัญหาหนี้ภาครัฐของอิตาลียังสูงและจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่หรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้เผชิญกันมาแล้วและผ่านพ้นไปได้ โดยมีโอกาสและความท้าทายอยู่ 3 ประเด็น ที่ต้องพิจารณาให้ดีในปีหน้าและปีถัดๆไป แต่ธนาคารเห็นเป็นโอกาสมากกว่าความท้าทายหรือความเสี่ยง ได้แก่
1. สงครามการค้ายังไม่จบ
แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะตกลงกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ไปอีก 90 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าสงครามการค้ายุติลง มองต่อไปข้างหน้า สงครามการค้าอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ภาษีนำเข้าเป็นการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-tariff barriers (NTB) เช่น กฎระเบียบการลงทุน การแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้ค่าเงินอ่อนเพิ่มขีดความสามารถการส่งออก ซึ่งไทยและตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากการแผ่อิทธิพลของทุนจีน ที่ระบายกำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศ ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนคงยากที่จะหาทางออกได้ เพราะหากสงบศึก และปล่อยให้เป็นไปดังเช่นที่ผ่านมา ภายในปี 2568 หรืออีกไม่เกิน 7 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะจีนการเติบโตรวดเร็ว แม้จะชะลอต่ำกว่าร้อยละ 6 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ยังสูงกว่าการเติบโตของสหรัฐที่ราวร้อยละ 2 ซึ่งสหรัฐคงยอมไม่ได้หากต้องกลายเป็นเบอร์ 2 ทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการตอบโต้ของสหรัฐคือการกดดันจีนไม่ให้สามารถเติบโตได้เร็ว ด้วยการขัดขวางการที่จีนจะเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยี ซึ่งการจำกัดการส่งออกของจีนก็จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สหรัฐจะทำต่อไป
2. คาดผลการเลือกตั้งกับเศรษฐกิจไทย ความเสี่ยงของรัฐบาลเสียงข้างน้อย
การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้วันนี้เราไม่ได้ประเมินผลกระทบของการเลือกตั้งในมุมมองเศรษฐกิจ แต่อยากฝากนักลงทุนให้ลองคิดตามว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนและการบริโภคได้ ซึ่งการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และสามารถเจรจาการค้าเสรี FTA กับยุโรปได้สะดวกขึ้น จะมีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC แต่ในระยะสั้น อาจมีความผันผวนได้หากนักลงทุนมีความไม่ชัดเจนกับผลการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้วุฒิสมาชิก 250 คนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ หรือ 250 เสียง และเมื่อได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกแล้ว คะแนนเสียงเกินครึ่งของทั้งสองสภา หรือ 375 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเอกภาพ และมีเสถียรภาพพอจะผ่านร่างกฎหมายสำคัญได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ นั่นเพราะหากมีพรรคการเมืองรวมกันเกิน 125 เสียง เมื่อรวมกับสว. อีก 250 เสียง ก็จะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากสส. ได้ถึง 250 คนได้ แล้วรัฐบาลชุดใหม่นี้จะเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ
โดยเฉพาะกฎหมายด้านงบประมาณได้หรือไม่ หรือจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างไร คำถามนี้คงต้องรอตอบหลังรู้ผลการเลือกตั้งและมีการคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน และนี่อาจเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจรอความชัดเจนก่อนเข้ามาลงทุนในไทย อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร และจะมีความผันผวนแค่ไหน ผมยังเชื่อมั่นในการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลื่นไหลเหมือนกระทะเทฟล่อน หรือ Teflon Thailand ที่แม้จะมีความเสี่ยงทางการเมือง เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สะดุดชะงัก เพียงแต่อาจจะชะลอไปบ้างชั่วคราวก่อนจะฟื้นมาได้ใหม่หลังมีความชัดเจนในที่สุด
3. ปฏิรูปเศรษฐกิจเต็มสูบหลังเลือกตั้ง
หากจะมองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิรูป เราจึงควรตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจด้วยว่า เขาจะสานต่อ "ประยุทธ์โนมิกส์" ที่เน้นการปฏิรูปการคลัง อุตสาหกรรม และภาครัฐและสังคม หรือไม่ และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร การปฏิรูปการคลังคือการหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ผ่านการลดต้นทุนด้านการขนส่ง การปฏิรูปอุตสาหกรรมคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบมีเป้าหมายชัดเจน กลุ่ม Thailand 4.0 เพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้เราก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก และ การปฏิรูปภาครัฐและสังคม คือการปฏิรูประบบภาษีมีความจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ภาครัฐและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย และเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ยังควรเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาและตลาดแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลให้ได้มากขึ้น
"โดยสรุปแม้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไม่ได้พิจารณาการปฏิรูประยะยาว แต่ก็หนีไม่พ้นที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างประเทศจะตั้งคำถามว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่เท่าใด เพราะในวันนี้เราคงเติบโตได้ราวร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง หรือ Middle Income Trap ไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะสังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว สัดส่วนวัยแรงงานกำลังลดลง การออมเพื่อใช้ยามเกษียณไม่เพียงพอ ทักษะแรงงานยังต้องเพิ่มขีดความสามารถ การเติบโตทางเศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของรายได้ ธุรกิจ SME และฐานรากยังอ่อนแอ และอีกหลากหลายประการที่รอการแก้ไข ซึ่งตอกย้ำว่า แม้มีสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ได้เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจไปแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุด และยังคงต้องฝากความหวังให้กับรัฐบาลชุดต่อไปหลังเลือกตั้งว่าจะเลือกเดินข้างการปฏิรูประยะยาวมากกว่าการใช้นโยบายกระตุ้นระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืน"
ข่าวเด่น