นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงาน SET Talk หัวข้อ "ภาวะตลาดหุ้นไทยและโอกาสการลงทุน"ว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 62 ยังต้องติดตามความผันผวนจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีของความขัดแย้งทางการค้ามากขึ้น อาทิ จีนเริ่มมีการซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐ, การให้ประกันตัวผู้บริหารของ Huawei เพราะฉะนั้น sentiment ในเรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง ส่วนปัจจัยในประเทศยังเชื่อว่าเศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง ทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินไหลเข้า
นอกจากนี้ตลท.ได้คัดเลือกหุ้นบริษัทจดทะเบียนจำนวน 32 บริษัทที่มีพื้นฐานดี โดยใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกจากมีการจ่ายปันผลสูงกว่า 3.5% และมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิ (net profit margin) สูงกว่า 10% ต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมองว่ามีความน่าสนใจในการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PREB, LH, QH, DCC, SCP), กลุ่มเทคโนโลยี (JAS, INTUCH, ADVANC), กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (PATO, MCS, ALUCON, TCCC, TMD), กลุ่มธุรกิจการเงิน (MBKET, KCAR, MFC, ASP, KGI, KKP, ASK, THREL, TISCO, TIP, TCAP, SCB) กลุ่มทรัพยากร (GLOW, SPCG, TTW, EASTW) กลุ่มบริการ (MC, TKS,), กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (SAUCE)
ส่วนประเด็นความกังวลหุ้นที่เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มีราคาต่ำกว่าจองนั้น ตลท.มองว่ามาจากเหตุผลเฉพาะตัวของหุ้นแต่ละบริษัท โดยจากสถิติช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีบริษัทที่ระดมทุน IPO ทั้งหมดรวม 62 บริษัท ซึ่งหุ้นจำนวนกว่า 50-60% มีผลตอบแทนจากผลกำไรส่วนต่างจากราคา (capital gain) สูงกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน
ขณะที่สถิติในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีหุ้นที่มีกำไรจากส่วนต่างราคาเทียบราคาปิดกับราคา IPO ในการซื้อขายวันแรกจำนวนกว่า 80% หรือคิดเป็น 50 บริษัท จากทั้งหมด 62 บริษัท ซึ่งมีเพียง 12 บริษัทเท่านั้นที่มีราคาต่ำกว่าจอง
นายศรพล กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงจากความผันผวนของปัจจัยภายนอกเป็นหลัก เช่น ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อย่างไรก็ดีดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคและประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) จากมีความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างดี
ขณะเดียวกันตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาสที่ 3/61 ที่ผ่านมาที่ระดับ 3.3% เป็นตัวยืนยันว่าปัจจัยภายในประเทศความแข็งแกร่ง อาทิ การบริโภคภาคเอกชนที่ระดับ 5% และการลงทุนภาคเอกชนเริ่มมีการฟื้นตัวและอยู่ในระดับสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ต้นปี 61 จนถึงปัจจุบัน (11 ธ.ค.) ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงเพียง 7.6% ขณะที่ดัชนี MSCI EM ปรับตัวลดลง 16.7% และถ้าเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นตั้งแต่ต้นเดือนธ.ค. ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง 0.2% ส่วนดัชนี MSCI EM ปรับตัวลดลง 3%
ข่าวเด่น