ก.ล.ต. ผนึก 3 องค์กรพันธมิตร“ตลาดหลักทรัพย์-สมาคมบริษัทจัดการลงทุน-สมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” จัดโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” นายจ้างกว่า 170 บริษัท ร่วมแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์ หนุนลูกจ้างให้มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุนและสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จัดโครงการ “บริษัทเกษียณสุข” ซึ่งมีนายจ้างกว่า 170 บริษัท ครอบคลุมสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 300,000 คน เข้าร่วมแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์ส่งเสริมลูกจ้างของตนให้มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างเพียงพอ โดยใช้ประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิด“ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” ในวันที่ 13 ธันวาคม 2561
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานก.ล.ต. กล่าวว่า โครงการ “บริษัทเกษียณสุข” มุ่งสนับสนุนนายจ้างช่วยให้ลูกจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีหลังเกษียณ ผ่านกลไกการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยนายจ้างมีบทบาทให้ความรู้แก่ลูกจ้าง กระตุ้นให้เกิดการออม และสร้างองค์ประกอบที่เหมาะสมเพื่อช่วยลูกจ้างให้ “ออมเต็มพิกัด จัดแผนเป็น เห็นเงินพอ” ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่มีนายจ้างสนใจสมัครเข้าร่วมกว่า 170 ราย ครอบคลุมสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 3 แสนคน เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในตอนแรกที่ 100 ราย”
“เราพบปัญหาว่ามีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 60% ได้เงิน ณ วันเกษียณ ไม่ถึงหนึ่งล้านบาท ขณะที่ผลงานวิจัยระบุว่าเงินขั้นต่ำสุดที่ควรมีเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้หลังเกษียณคือสามล้านบาท และสมาชิกไม่รู้ว่าจะต้องสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อให้เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณ ทำให้ออมน้อย เริ่มออมช้า และไม่เลือกหรือไม่มีทางเลือกในนโยบายการลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนมากพอที่จะทำให้เงินออมเติบโตจนถึงระดับเพียงพอสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณได้”
ปัจจุบันสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่า 80% ยังคงเลือกนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้มีเงินไม่พอใช้สำหรับชีวิตหลังเกษียณ
จากประเด็นข้างต้นนายจ้างจึงเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่จะช่วยสร้างความตระหนักด้านการออมเพื่อการเกษียณโดยกระตุ้นให้ลูกจ้างสะสมเงินเต็มสิทธิร้อยละ 15 ของเงินเดือน มีแผนการลงทุนให้เลือกหลากหลาย รวมถึงมีแผนแบบสมดุลตามอายุ (life path) ที่ปรับสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติตามช่วงอายุของสมาชิกไว้รองรับด้วย สิ่งที่สำคัญคือ นายจ้างต้องให้ความรู้แก่ลูกจ้างอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การเลือกแผนการลงทุนของลูกจ้างเหมาะสมกับเป้าหมายเกษียณของตนเอง
ทั้งนี้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์ที่หลากหลาย อาทิ ได้รับเครื่องมือการเรียนรู้ (Toolbox) ซึ่งประกอบด้วยสื่อและเครื่องมือต่างๆที่สามารถนำไปใช้สื่อสารกับลูกจ้างให้หันมาใส่ใจกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างต่อเนื่อง
ได้รับสิทธิในการส่งกรรมการกองทุนไปอบรมความรู้ ในการบริหารกองทุนในหลักสูตรของสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และส่งผู้แทนฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือพนักงานที่พร้อมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (influencer) เข้าร่วมเวิร์คช็อป เพื่อกระตุ้นและถ่ายทอดความรู้สู่เพื่อนพนักงานได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้บริษัทจัดการลงทุนที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะช่วยให้ข้อมูลและนำเสนอทางเลือกแผนการลงทุนที่หลากหลายและเหมาะสมกับเป้าหมายเกษียณมากที่สุด และสุดท้ายจะประเมินผลเพื่อประกาศเกียรติคุณแก่สมาชิกตามความสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการต่อไป
อย่างไรก็ตามภายในงานดังกล่าวมีพิธีประกาศเจตนารมณ์จากตัวแทนสมาชิกโครงการฯ และมีการเสวนาหัวข้อ “เกษียณสุขสุดทาง เพราะมีนายจ้างเป็น Super Hero” เพื่อให้มีแนวทางในการช่วยเหลือลูกจ้างให้มีเงินใช้เพียงพอในวัยเกษียณต่อไป
ข่าวเด่น