นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนกระทรวงการคลัง ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting: AFCDM+3) เมื่อวันที่ 13 – 14 ธันวาคม 2561 ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี โดยมีการหารือประเด็นเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเสถียรภาพของภูมิภาคอาเซียน+3 ดังนี้
1. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 อย่างไม่เป็นทางการ ผู้แทนจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) และสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) ได้คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2562 ว่าจะเติบโตร้อยละ 3.7 เท่ากับปี 2561 แต่ภาพรวมเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 จะเติบโตในอัตราที่ชะลอจากร้อยละ 5.4 ในปี 2561 เหลือร้อยละ 5.1 ในปี 2562 และอาจจะต่ำกว่าหากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ มีความรุนแรงขึ้น โดยในปีหน้า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับความเสี่ยงหลายปัจจัย อาทิ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และนโยบายการเงินของสหรัฐอเมริกาที่อาจปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด ส่งผลให้ นักลงทุนมีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะในตลาดของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งนี้ ทั้งสามสถาบันมีความเห็นสอดคล้องกันว่า กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ควรดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ทั้งนโยบายการเงินและการคลังแบบดั้งเดิม (Conventional Policies) และแบบพิเศษ (Unconventional Policies) เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่มีความผันผวนดังกล่าว โดยเห็นว่านโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวและนโยบายการเงินการคลังที่ยืดหยุ่นและมุ่งรักษาเสถียรภาพเป็นนโยบายที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและระบบเศรษฐกิจให้เอื้อต่อการลงทุนและการค้า รวมทั้งสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและทั่วถึง ในส่วนของประเทศไทย AMRO คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อย จากร้อยละ 4.2 ใน
ปี 2561 เหลือร้อยละ 4.0 ในปี 2562 โดยมีมูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกที่มีสัญญาณชะลอตัว ขณะที่การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยจะส่งผลในเชิงลบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและภาระทางการคลังของประเทศในอนาคต อย่างไรก็ดี นโยบายบายการเงิน อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ประเทศไทยควรมุ่งเน้นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการเตรียมมาตรการเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
2. การประชุมในฐานะกรรมการบริหารของ AMRO ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนงบประมาณ และแผนงานด้านบุคลากรประจำปี 2562 รวมถึงเห็นชอบนโยบายต่าง ๆ ที่ AMRO จะดำเนินการในอนาคต ประกอบด้วย นโยบายด้านการสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านกลไกมาตรการริเริ่มเชียงใหม่สู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) นโยบายด้านหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Partnership Strategy) และนโยบายด้านการแลกเปลี่ยนเอกสารกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรในตำแหน่งผู้บริหารอาวุโสของ AMRO รวมทั้งกรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของ AMRO (Performance Evaluation Framework: PEF) เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินการในระยะต่อไปด้วย
3. การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินภายใต้ CMIM ซึ่งเป็นกลไกความช่วยเหลือทางการเงินของภูมิภาคอาเซียน+3 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่างสุดท้ายของความตกลง CMIM ที่ได้รับการปรับปรุงตามกระบวนการทบทวนความตกลง CMIM เป็นระยะ (Periodic Review) เพื่อให้กลไก การทำงานมีประสิทธิภาพ และมีความชัดเจนเพิ่มขึ้นในทางปฏิบัติ และได้เห็นชอบให้นำร่างความตกลงดังกล่าวเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM+3) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2562 ณ สาธารณรัฐฟิจิ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเริ่มกระบวนการลงนามต่อไป
4. มาตรการริเริ่มตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative: ABMI) เป็นมาตรการเพื่อพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือก ในการออม ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการในปี 2561 รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการเพื่อทบทวนแผนงาน ABMI ฉบับปัจจุบัน (ปี 2559 – 2561) (ABMI Roadmap Review) เพื่อเตรียมจัดทำแผนงานฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จในปี 2562 ตามแผนที่กำหนดให้มีการทบทวนทุก 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้ตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นเอเชียเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อการลงทุนภายในภูมิภาคต่อไป
ข่าวเด่น