บทสรุปผู้บริหาร (บทวิเคราะห์ฉบับเต็มตาม File แนบ)
- 2018 เป็นปีที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศสงครามการค้าตามที่เคยหาเสียงไว้ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จีน อย่างไรก็ตาม พัฒนาการด้านสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐดีขึ้นหลังผลการหารือนอกรอบระหว่างการประชุม G20 ระบุว่าสหรัฐตกลงจะคงอัตราภาษีไว้ที่ 10% แลกกับการที่จีนยอมเริ่มเจรจาเรื่องประเด็นการบีบบังคับถ่ายโอนเทคโนโลยี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และอื่น ๆ
- แม้สงครามการค้าจะบรรเทาลง แต่ประเด็นด้านเทคโนโลยีกลับรุนแรงขึ้น หลังจากที่มีการจับกุม ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน หรือ CFO ของหัวเว่ย ทำให้เกิดคำถามสำคัญ 3ประการ คือ (1) เพราะเหตุใดทั้งสหรัฐและจีนจึงยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว (2) การจับกุม CFO หัวเว่ยเกี่ยวข้องกับประเด็นสงครามการค้าหรือไม่ และ (3) ผลกระทบของสงครามการค้าที่อาจแปรเปลี่ยนเป็นสงครามด้านเทคโนโลยีคืออะไร
- สาเหตุที่สหรัฐยอมสงบศึกสงครามการค้าชั่วคราว เป็นเพราะสัญญาณเสี่ยงเศรษฐกิจเริ่มสูงขึ้น หากสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนตามที่ประกาศไว้ อาจกระทบการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนในสหรัฐเอง นอกจากนั้น สหรัฐยังมองว่าประเด็นสงครามการค้าเป็นประเด็นเชิงกลยุทธระยะยาว เพื่อป้องกันไม่ให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี 5G ตามแนวทาง Made in China 2025 รวมถึงกังวลว่าสินค้าเทคโนโลยีของจีนที่ส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ เสี่ยงต่อการจารกรรมทางไซเบอร์ (Cyber Espionage)
- หัวเว่ยเป็นทั้งผู้ผลิตโครงข่ายและโทรศัพท์มือถือระดับโลกและเป็น Supplier สำคัญให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ทำให้หัวเว่ยมีเทคโนโลยีล้ำหน้าและพร้อมเป็นผู้นำอันดับหนึ่งด้าน 5G นอกจากนั้น หัวเว่ยยังมีความเสี่ยงด้าน Cyber espionage ทำให้ทางการหลายประเทศเริ่มคว่ำบาตรสินค้าและระบบของหัวเว่ย
- กรณีหัวเว่ยอาจนำไปสู่การเปลี่ยนวิถีการค้า (Trade Diversion) โดยในระยะสั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Disrupt) ในระบบห่วงโซ่อุปทาน และจะกระทบต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ขณะที่ในระยะต่อไป อาจกระทบต่อแนวทางการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของจีน เนื่องจากทั้งลูกค้าและ Supplier ของหัวเว่ยและผู้ผลิตจีนอาจหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจกับบริษัทเทคโนโลยีจีนในอนาคต
ข่าวเด่น