นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 20 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 772 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 253 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 7 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 378 ล้านบาท คือ บริการทางบัญชี บริการให้เช่าที่ดินบางส่วน บริการให้กู้ยืมเงิน โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และฮ่องกง+
2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 98 ล้านบาท ได้แก่ บริการตรวจสอบและออกใบรับรองคุณภาพอัญมณี บริการให้เช่าอุปกรณ์แม่ข่ายคอมพิวเตอร์ บริการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ บริการบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการให้ใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับเรียนภาษาอังกฤษและภาษาจีนกลางด้วยตนเอง โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ จีน และ ฮ่องกง
3. ธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 27 ล้านบาท ได้แก่ นายหน้าจำหน่ายเหล็กแผ่นเรียบรีดร้อน เหล็กแผ่นเรียบรีดเย็น เหล็กแผ่นเรียบเคลือบ การค้าปลีกแม่พิมพ์โลหะที่ใช้ ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า การค้าส่งสารกำจัดศัตรูพืช สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และธาตุอาหารพืช การค้าปลีกชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์โทรคมนาคม โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น บริติชเวอร์จิน และจีน
4. ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาคเอกชน จำนวน 4 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 269 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีแบบครบวงจร โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศฮ่องกงและเกาหลีใต้
การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเขียนแบบพิมพ์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการออกแบบแม่พิมพ์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขุดเจาะและความปลอดภัยนอกชายฝั่ง องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคในการอ่านภาพจากเครื่องถ่ายภาพในหลอดเลือดโดยใช้คลื่นแสง (OFDI) องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการออกแบบเครือข่ายสื่อสารผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง และองค์ความรู้เกี่ยวกับการวางระบบโรงงานผลิตสารเคมี เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2561 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 3 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ในขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 510 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 195 เนื่องจากเดือนธันวาคม 2561 มีผู้ได้รับอนุญาต ให้ประกอบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการให้กู้ยืมเงิน บริการจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุสำหรับใช้ในโครงการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีแบบครบวงจร เป็นต้น
อนึ่งในเดือนมกราคม – ธันวาคม 2561 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต จำนวน 272 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 11,505 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 1 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 4,203 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 58 เนื่องจากในปี 61 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบทางวิศวกรรมและติดตั้งเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและผลิตภัณฑ์คอนกรีต บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ เป็นต้น
ข่าวเด่น