กระทรวงพาณิชย์ บรรเทาความเดือดร้อนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” 23 จังหวัด ให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ไม่สะดุด ออกมาตรการช่วยเหลือขยายเวลาทำธุรกรรมของนิติบุคคล ได้แก่ การแจ้งบัญชีและเอกสารสูญหาย การส่งงบการเงิน การยื่นจดทะเบียนนิติบุคคล และเพิ่มพื้นที่การให้บริการ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ เร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติและได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” รวมถึง หามาตรการเยียวยาภาคธุรกิจซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยกรมฯ ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบภัยฯ และได้รับผลกระทบใน 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคใต้ 16 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส ชุมพร ตรัง พัทลุง ระนอง กระบี่ ยะลา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล ภูเก็ต พังงา และภาคกลาง 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมถึงเขตที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจใน 4 แนวทางหลัก ดังนี้”
“1) ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายให้สามารถยื่นล่าช้าและสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
2) ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี สำหรับธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นงบฯ ในช่วงเกิดเหตุฯ โดยสามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้ออกไปอีก 1 เดือน
3) ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลที่ต้องยื่นจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดที่กฎหมายกำหนดยื่นภายในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 - 31 มกราคม 2562 และขยายระยะเวลาการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ครบกำหนดส่งระหว่างวันที่ 1 - 31 มกราคม 2562 เมื่อเหตุฯ สิ้นสุดลงให้นิติบุคคลยื่นขอขยายระยะเวลาภายใน 15 วัน
4) จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียน ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 23 จังหวัด ที่ประสบภัยฯ และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม”
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวนนิติบุคคลใน 23 จังหวัด คงอยู่ทั้งสิ้น 192,575 ราย แบ่งเป็น ชลบุรี 49,007 ราย ระยอง 12,614 ราย จันทบุรี 2,566 ราย ตราด 1,253 ราย นครศรีธรรมราช 4,856 ราย ปัตตานี 1,234 ราย สุราษฎร์ธานี 14,721 ราย สงขลา 9,861 ราย นราธิวาส 1,340 ราย ชุมพร 1,857 ราย ตรัง 2,169 ราย พัทลุง 1,472 ราย ระนอง 924 ราย กระบี่ 3,274 ราย ยะลา 1,395 ราย เพชรบุรี 2,457 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 5,447 ราย สตูล 724 ราย ภูเก็ต 20,346 ราย พังงา 1,698 ราย สมุทรปราการ 38,922 ราย สมุทรสาคร 13,546 ราย และสมุทรสงคราม 892 ราย ทั้งนี้ นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบฯประกอบธุรกิจประเภท ‘อสังหาริมทรัพย์’ มากที่สุด หากรวมทุนจดทะเบียนเฉพาะธุรกิจประเภทนี้แล้วมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 280,111.87 ล้านบาท จากมูลค่าโดยรวมทุนจดทะเบียนของนิติบุคคลทั้ง 23 จังหวัด จำนวน 3,150,410.96 ล้านบาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th
ข่าวเด่น