DITP ปลื้มสินค้าท้องถิ่นผลิตภัณฑ์จากผ้าใยสับปะรดออเดอร์ต่างประเทศทะลัก เร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรักษามาตรฐานสินค้าส่งออก ดันขึ้นแท่นสินค้าสร้างชื่อหวังโกยรายได้เข้าประเทศต่อเนื่อง
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ DITP อยู่ระหว่างการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในระดับชุมชนพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน โดยกลุ่มผู้ผลิตเสื้อผ้าจากใยสับปะรดถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของสินค้าท้องถิ่นที่มีการดัดแปลงจนสามารถผลักดันให้กลายเป็นสินค้าส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ผลิต และสร้างรายได้แก่ชาวสวนผู้ปลูกสับปะรด ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนและการสร้างงานสร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสับปะรดมีความหลากหลาย เช่น ผ้ารองจาน พรม กระเป๋า รองเท้า เสื้อผ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของใยสับปะรด คือความเหนียว ทนทาน สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าคุณภาพดีอีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อ DITP ได้พาผู้ประกอบการออกงานแสดงสินค้าของทางกรมฯ
จึงได้รับความสนใจจากลูกค้าต่างประเทศเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีการสั่งจองล่วงหน้าเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทันที
“สินค้าที่ผลิตจากเส้นใยสับปะรด ถือเป็นสินค้าที่ช่วยลดมลพิษของเสียจากวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตร ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและให้การสนับสนุนอย่างมาก และปัจจุบันหลายหน่วยงานได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการนำใบสับปะรดมาพัฒนาปั่นเป็นเส้นใยธรรมชาติสู่การผลิตสิ่งทอ เพื่อลดระยะเวลา และรักษาคุณภาพมาตรฐานของเส้นใย ถือเป็นเรื่องที่ดีและน่าภูมิใจที่ท้องถิ่นได้มีการยกระดับขีดความสามารถเพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้น ส่วนแนวทางส่งเสริมนั้นทางDITPได้ให้ความสำคัญด้านความรู้ การพัฒนารูปแบบ และดีไซน์ การสร้างแบรนด์สินค้า และการช่วยหาตลาดสินค้าเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวต่อว่า การที่มีชุมชนที่ผลิตเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มหลายแห่งมาหารือกับกรมฯเพื่อให้กรมฯเข้าไปช่วยเหลือ เช่น กลุ่มรักษ์บ้านเรา จังหวัดสงขลา ที่เคยเข้าร่วมโครงการต้นกล้าทูโกล ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือNEA ที่อยู่ในความดูแลของ DITP นั้น เพื่อต้องการสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาสินค้า และการทำการส่งออก ซึ่งพบว่าในปัจจุบันมีคำสั่งซื้อจำนวนมากจากผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรมและร้านอาหารจากประเทศญี่ปุ่น จนไม่สามารถผลิตได้ทัน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ เบื้องต้นได้มีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยและกองทัพไทย เพื่อขอความช่วยเหลือในด้านการผลิตเครื่องจักรทุ่นแรง เพื่อให้ชุมชนกลุ่มนี้สามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานและส่งออกได้ทันตามออเดอร์สั่งซื้อที่รับมา
“แม้จะมีการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยแต่ DITP ก็ยังคงจะส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงานผู้สูงอายุต่อไป เช่น แบ่งเป็นสินค้าที่ทำด้วยมือ และทำด้วยเครื่องจักร โดยสินค้าที่ทำด้วยมือจากผู้สูงอายุที่มีความชำนาญก็จะยกระดับเป็นสินค้าเกรดพรีเมียมที่สามารถตั้งราคาขายได้สูง เนื่องจากเป็นสินค้าที่ผลิตออกมาด้วยความประณีตพิถีพิถันใช้ระยะเวลาในการผลิตค่อนข้างนาน และที่สำคัญชาวต่างชาติให้ความสนใจเป็นพิเศษ ถือเป็นเสมือนของสะสมที่ควรค่าแก่การครอบครอง”
ด้าน นางปริยากร ธรรมพุทธสิริ ผู้ผลิตและจำหน่าย หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา หนึ่งในผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เคยเข้าร่วมโครงการต้นกล้าทูโกล กล่าวว่า จังหวัดสงขลามีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่ขึ้นชื่ออยู่อย่างหนึ่งนั่นคือผ้าขาวม้าเกาะยอ และตนเองก็ได้ประกอบกิจการเกี่ยวกับผ้าขาวม้าทั้งเป็นผู้ผลิตผ้าและแปรรูปเป็นเสื้อผ้าลายผ้าขาวม้า จากนั้นก็ได้เข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่จังหวัดสงขลา และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยหลังจากที่ได้เข้ารับการอบรมกับสถาบัน NEA ทำให้ได้รับความรู้และมองเห็นจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ จึงเร่งดำเนินการแก้ไข และพัฒนาต่อยอดจนทำให้DITPสนใจและเชิญชวนกลุ่มตนเข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน STYLE Bangkok ทำให้ความฝันที่จะส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศกลายเป็นความจริงขึ้นมาในทันที เพราะมีหลายประเทศให้ความสนใจ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และสวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ และมียอดสั่งจองสินค้าไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก
นอกจากความสำเร็จที่เกินคาดหมายและความภูมิใจที่สินค้าท้องถิ่นของสงขลาได้รับความสนใจจนสามารถขายออกนอกประเทศได้ เรายังได้พันธมิตรทางการค้าจากการเข้าร่วมอบรมมาช่วยดูแลเรื่องการตลาด การจัดการด้านเอกสาร การขอมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้สินค้าของเรามีความเป็นสากลมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของกลุ่มฯ ขยายตัวถึง 100% เพราะเดิมที่ขายผ้าขาวม้าวัตถุดิบธรรมดาทั่วไปราคา 200-300 บาท แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบเป็นใยสับปะรดบวกกับการดีไซน์สินค้าให้มีความทันสมัยและสวยงามตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ตรงจุด ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาสามารถตั้งราคาขายได้สูงถึงชุดละ 3,000-5,000 บาท เลยทีเดียว
“ผลของการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้ใยสับปะรดนอกจากจะทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้นแล้ว ยังได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากนำเอาวัตถุดิบที่ไม่มีมูลค่ามาทำให้เกิดมูลค่า เพราะทางกลุ่มฯได้รับซื้อใยสับปะรดจากชุมชนในราคากก.ละ 300-600 บาท ขณะที่กลุ่มทอผ้าจากเดิมที่มีรายได้เมตรละ 50 บาท หลังจากได้มีการพัฒนาสินค้าด้วยใยสับปะรด ก็มีรายได้เพิ่มเป็นเมตรละ 150 – 250 บาท นับเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” นางปริยากร กล่าว
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือโทรสายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169
ข่าวเด่น