ตลาดหลักทรัพย์ฯ วางกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2562-2564) ภายใต้ “Creating Partnership Platform to Drive Inclusive Growth” ขับเคลื่อนตลาดทุนด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาตลาดทุน (Enabler) ด้วยการเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนครบวงจรของประเทศ ผ่าน 4 กลยุทธ์หลัก 1) ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ (Expand) 2) แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี (Explore) 3) ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ (Reform) และ 4) ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Restructure) หวังเป็นกลไกช่วยลดต้นทุนและขยายโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมตลาดทุนทั้งระบบ พร้อมนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals: SDGs สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและต่อยอดธุรกิจใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วนตามกรอบกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2562-2564) ”Creating Partnership Platform to Drive Inclusive Growth” ด้วยบทบาทการเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนของประเทศ มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และศักยภาพในการพัฒนาตลาดทุน (Enabler) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจและตอบสนองความท้าทายในยุคที่สภาพแวดล้อมของตลาดทุนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเน้นการปรับปรุงกระบวนการทำงานและดูแล stakeholders ทั้งกระบวนการด้วย 4 กลยุทธ์ ได้แก่ ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ (Expand) แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี (Explore) ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ (Reform) และปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Restructure) ควบคู่การนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ Sustainable Development Goals: SDGs มาปฏิบัติเพื่อพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตอย่างยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม
1) ขยายขอบเขตการทำธุรกิจ (Expand): ขยายฐานผู้ลงทุนไปยังจังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอในลักษณะแบบ dollar-cost averaging (DCA) และให้ความรู้แผนการลงทุนรองรับการเกษียณอายุ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนแบบครบวงจร (ระบบส่งคำสั่งซื้อขายและบริหารความเสี่ยง / ระบบหลังการซื้อขาย) เพื่อช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของตัวกลาง และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตลาดทุน พร้อมทั้งสร้างแพลตฟอร์มความรู้ด้านการเงินผ่านการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชน
2) แสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี (Explore): ก้าวสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบโดยสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ครบวงจรให้กับทุกภาคส่วน ต่อยอดระบบการเข้าถึงกองทุนรวม (FundConnext) ให้ซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ การชำระเงินระหว่างบริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนแบบข้ามธนาคาร ตลอดจนพัฒนาบริการเพิ่มเติมเพื่อให้การเปิดบัญชีเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ รวมถึงการเชื่อมโยงต่างประเทศเพื่อต่อยอดธุรกิจให้ตลาดทุน นอกจากนี้ ยังเตรียมสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Platform) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ตลาดทุนไทย
3) ลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ (Reform): สร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้บริการแบบครบวงจร (one-stop-services) โดยเริ่มจากบริษัทจดทะเบียน ทั้งด้านรับหลักทรัพย์ การดูแลบริษัทจดทะเบียน บริการหลังการซื้อขาย การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และจะขยายสู่ผู้ร่วมตลาดอื่น ๆ ในอนาคต เพื่อลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เกิดความคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมตลาดทุนทั้งระบบ รวมถึงการปฏิรูปกฎเกณฑ์และขั้นตอนการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ
4) ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Restructure): ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในตลาดทุน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจัดกลุ่มธุรกิจออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจหลัก ธุรกิจใหม่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาตลาดทุนระยะยาว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ SDGs ทั้ง 17 ด้าน โดยมุ่งเน้น 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) สร้างความมั่งคงทางการเงินสำหรับประชาชนไทย ผ่านโครงการ Happy Money Happy Retirement เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) เพื่อให้เกิดสินค้าและบริการที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) ผ่านโครงการ Care the Bear อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) โดยทำงานร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาตลาดทุน
สรุปพัฒนาการสำคัญและความสำเร็จปี 2561
ด้านธุรกิจ
· สภาพคล่องครองอันดับหนึ่งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2555 ในภูมิภาคอาเซียน มูลค่าซื้อขายต่อวัน 57,674 ล้านบาท
· 19 บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) สูงสุดในอาเซียน
· 35 บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี MSCI Standard Index เพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเพิ่มขึ้น 2 บจ. จากปีก่อนหน้า
· เพิ่ม 2 ดัชนีใหม่ SETCLMV ดัชนีที่คำนวณมาจากหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยที่มีรายได้จากประเทศในกลุ่ม CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม และ SETTHSI ดัชนีที่คำนวณมาจากหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล
· เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ Depositary Receipt (DR) ตัวแรกของไทย “E1VFVN3001” อ้างอิงกองทุน Exchange Traded Fund (ETF) ที่ลงทุนในดัชนี VN30 ดัชนีหุ้นชั้นนำ 30 ตัวของเวียดนาม
· ออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund Infrastructure Fund: TFFIF) เป็นกองแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้านคุณภาพ
· ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำ ASEAN CG Scorecard โดยมีคะแนนสูงสุดในอาเซียน
· ออกเครื่องหมาย C ดูแลผู้ลงทุน และคุณภาพบริษัทจดทะเบียน
· ส่งเสริมวัฒนธรรมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอแบบ dollar-cost averaging (DCA) เพิ่มขึ้น 63,000 บัญชี
· สร้างความรู้การเงินแก่วัยทำงานเพิ่ม 832,946 คน จาก 327 องค์กร
· ขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมตลาดทุนผ่านโครงการ “Capital Market Innovation Awards 2018”
· ส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนลดภาวะโลกร้อน ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการ Care the Bear
การได้รับการยอมรับในเวทีโลก
· คว้ารางวัล Market Transparency Award หนึ่งเดียวในกลุ่มตลาดเกิดใหม่และเอเชีย จากการจัดอันดับตลาดหลักทรัพย์ที่มีบริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนโดดเด่นและมีคุณภาพมากที่สุด
· บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) รับรางวัล Best Central Securities Depository in Southeast Asia สะท้อนการพัฒนาการทำงานและยกระดับงานบริการหลังการซื้อขายสู่มาตรฐานโลก
· คว้า 2 รางวัล จากวารสาร CFI.co ประเทศอังกฤษ ได้แก่ รางวัล Best Stock Exchange in Advanced Emerging Market และรางวัล Best Sustainable Securities Exchange in Southeast Asia Emerging Market
· พัฒนาตลาดทุนไทยสู่เวทีโลก เป็นเจ้าภาพงานประชุม Association of Futures Market: AFM / ประชุมผู้บริหารระดับสูงตลาดหลักทรัพย์ในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Focus) และ การจัดงาน Thailand Focus เสนอข้อมูลถึงศักยภาพตลาดทุนไทย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
· ปรับรอบระยะเวลาชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์เป็น T+2
· ลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ กับ Clearstream ของตลาดหลักทรัพย์เยอรมัน
· ให้บริการใช้หุ้นวาง Margin ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Thailand Futures Exchange : TFEX)
การพัฒนาด้านบริการดิจิทัล
· พัฒนาบริการประมวลผลการชำระเงินของตลาดทุน เพื่อให้เกิดความสะดวก และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
· พัฒนาระบบเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนส่งเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้นและรายงานประจำปีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในรูปแบบ QR Code และ URL
· พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อต่ออายุใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพหลักทรัพย์
· พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัลสำหรับตลาดทุนเพื่อเชื่อมต่อกับ National Digital ID
ข่าวเด่น