SME D Bankจับมือสคช.ลงนามMOUยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกอบการอาชีพอิสระผ่านกิจกรรมเติมทักษะมาตรฐานวิชาชีพ หนุนสร้างโอกาสเติบโตต่อยอดสู่แหล่งทุนปูทางชีวิตดีมีสุข เบื้องต้นนำร่องติดปีกผู้แสดงเจตจำนงร่วมโครงการ “ฮักแท็กซี่ฯ”สำเร็จแล้วกว่าร้อยราย เดินหน้าขยายสู่สาขาอาชีพอิสระอื่นๆเชื่อเกิดประโยชน์สร้างงาน เพิ่มรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายสู่ชุมชนพาเศรษฐกิจและสังคมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน)หรือสคช.ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.)หรือSME D Bankลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประกอบการอาชีพอิสระ
นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) หรือ สคช. กล่าวว่าสคช.ดำเนินงานตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลในหลากหลายมิติประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตรงความต้องการของตลาดงาน โดยความร่วมมือกับSME D Bankในครั้งนี้ถือเป็นความก้าวหน้าของความร่วมมือที่เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานวิชาชีพให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยสคช.จะดำเนินการฝึกอบรมเติมทักษะที่จำเป็นให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระในสาขาต่างๆ เมื่อผ่านการฝึกอบรมและประเมินแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอิสระจะได้รับใบประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ ยืนยันตัวตนในอาชีพการันตีความสามารถช่วยสร้างเสริมโอกาสในอาชีพที่ทำอยู่ ตลอดจนสามารถนำความรู้ไปต่อยอดอาชีพ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย สร้างความมั่นคง และยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนไทยในทุกๆ สาขาวิชาชีพ
.jpg)
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่าจากที่ธนาคารร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย พบว่าประเทศไทยยังมีผู้ประกอบการรายเล็กหรือ“จุลเอสเอ็มอี”กว่า 3 ล้านรายอยู่นอกระบบส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพอิสระต่างๆ โดยที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐและมีขีดความสามารถทางธุรกิจต่ำมาก ดังนั้นธนาคารจึงกำหนดบทบาทเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐที่จะดูแลสนับสนุนและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง
.jpg)
แนวทางการสนับสนุนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจะมอบ“3 เติม” ได้แก่เติมทักษะ เติมทุนและเติมคุณภาพชีวิต โดยด้าน “เติมทักษะ”เพิ่มความรู้ ความสามารถการประกอบอาชีพอิสระให้มีมาตรฐานดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เข้าร่วมโครงการกับSME D Bankจะได้รับการเติมทักษะที่จำเป็นต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต พัฒนาบรรจุภัณฑ์ การบริหารจัดการ ระบบการเงิน ระบบขนส่ง และการส่งเสริมการตลาด ตลอดจนด้านอื่นๆที่จำเป็น เป็นต้น ซึ่งธนาคารได้รับความกรุณาจากสคช.ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบอาชีพอิสระมาทำหน้าที่จัดฝึกอบรมความรู้และประเมินผล เบื้องต้นนำร่องเติมทักษะให้แก่ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ ในกิจกรรม"ติดปีกฮักแท็กซี่ทะยานสู่บริการที่เหนือกว่า" ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง มีผู้ขับแท็กซี่ ผ่านกิจกรรมดังกล่าวแล้ว137 คน ทั้งหมดต่างพอใจที่ได้รับการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ เพราะช่วยการันตีคุณภาพเป็น“แท็กซี่มืออาชีพ”สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้โดยสาร นำไปสู่การสร้างโอกาสดีๆในการประกอบอาชีพต่อไป
(6).jpg)
นายมงคล กล่าวต่อว่าจากความสำเร็จดังกล่าวธนาคารและสคช.จึงร่วมกันขยายการเติมทักษะให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสาขาอื่นๆ เช่น ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจขนส่งชุมชน ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร เป็นต้น เมื่อได้รับการเติมทักษะแล้วหากต้องการเงินทุนเพื่อต่อยอดอาชีพ ธนาคารได้เตรียมบริการ“เติมทุน”ผ่านโครงการสินเชื่อต่างๆ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ระยะเวลากู้สูงสุด7ปี คิดอัตราดอกเบี้ยถูกสำหรับบุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 3ปีแรกเพียง 0.42%ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด2ล้านบาทต่อราย และหากยกระดับเข้าสู่การเป็นนิติบุคคลจัดทำบัญชีเดียวอัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก โดย3ปีแรกเหลือเพียง0.25%ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ยMLRต่อปี วงเงินกู้สูงสุด5ล้านบาทต่อราย และสินเชื่อเถ้าแก่4.0สำหรับนิติบุคคล ดอกเบี้ยถูกสุดในระบบเพียง0.08%ต่อเดือนคงที่นาน7ปี (ตลอดอายุสัญญา) กู้ 1 ล้านบาทผ่อนเพียง 410 บาทต่อวัน เป็นต้น
เมื่อได้รับการ“เติมทักษะ”และ“เติมทุน”จะนำไปสู่การ“เติมคุณภาพชีวิต”ช่วยให้ผู้ประกอบการอาชีพอิสระ รวมถึงครอบครัว อยู่ดี กินดี มีสวัสดิการในชีวิตมั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังส่งผลดีไปในด้านสังคมอยู่ดีมีสุขอีกด้วย
ข่าวเด่น