กองทุนรวม
KSAMกางแผนธุรกิจปี62ตั้งเป้าเอยูเอ็ม5.3แสนล้านบาท


KSAM กางแผนธุรกิจปี 62 ตั้งเป้าเอยูเอ็ม 5.3 แสนล้านบาท มุ่งเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม ทุกความต้องการ พร้อมขยายฐานลูกค้าใหม่ควบคู่กับการพัฒนาระบบออนไลน์


น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงศรี จำกัด(บลจ.กรุงศรี)เปิดเผยว่า “สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทในปี2562บริษัทตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร(AUM)ที่ 5.3 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้น 3 กลยุทธ์หลัก คือการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง การผนึกกำลังร่วมกับกลุ่มกรุงศรีและMUFG เพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆในวงกว้าง รวมทั้งการพัฒนาเพื่อมอบประสบการณ์การลงทุนที่ดีให้กับลูกค้า”

“ในปี2562บริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้น อาทิ การเปิดบัญชีออนไลน์บริการ Mobile Application และบริการ Robo Advisor ในส่วนของกองทุนรวม เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับ ผู้ลงทุน และแนะนำการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการรายบุคคล รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนา Mobile Applicationในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากให้บริการชำระค่าซื้อกองทุนด้วยQR Code และการพัฒนาเว็บไซต์ภาษาญี่ปุ่นที่เน้นข้อมูลในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้เปิดให้บริการในปี2561ที่ผ่านมา”

“ในส่วนของผลิตภัณฑ์ใหม่ได้มีการเปิดเสนอขายกองทุนKFHHCAREในช่วงต้นปีที่ผ่านมาและเตรียมเปิดเสนอขายกองทุนKFSUPERและกองทุนKFSUPERRMF เพื่อเติมเต็มซีรีย์ของกองทุนผสมให้มีความสมบูรณ์ โดยก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดตัวกองทุนKFHAPPYและกองทุนKFGOOD ซึ่งแต่ละกองทุนในซีรีย์นี้ได้มีการออกแบบให้ตอบโจทย์กับผู้ลงทุนในแต่ละวัยที่รับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนที่ง่ายครบจบในกองทุนเดียวและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับผู้ลงทุน”

“สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี2561ที่ผ่านมานั้น บริษัทมีการเติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมและบลจ.ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก โดยในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี2561มีมูลค่ากว่า5แสนล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตของ AUMที่ 8.5% ในขณะที่การเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมและ บลจ.ขนาดใหญ่10 อันดับแรกอยู่ที่ 3.4% และ 3.1%ตามลำดับ โดยบลจ.กรุงศรี มีการเติบโตเพิ่มขึ้นในทุกประเภทธุรกิจทั้งในส่วนของกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (ข้อมูล : AIMC ณ 31 ธ.ค. 61/ ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)

“ด้านกองทุนส่วนบุคคลมีอัตราการเติบโตสูงเกือบ3เท่าของอุตสาหกรรม โดยในส่วนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ สิ้นปี 2561มีมูลค่ารวมกว่า 112,821 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นกว่า 38,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 51.58% ในขณะที่อุตสาหกรรมโดยรวมเติบโตประมาณ 17.65% การเติบโตดังกล่าวมาจากความไว้วางใจของ นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งลูกค้าสถาบันและลูกค้าบุคคล ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็มีการเติบโตในทุกประเภททรัพย์สินเช่นกัน”(ข้อมูล: บลจ.กรุงศรี ณ 31 ธ.ค. 61)

“หากพิจารณาด้านผลการดำเนินงานกองทุนจะพบว่ากองทุนของบลจ.กรุงศรีมีกองทุนภายใต้การบริหารจัดการที่ติดอันดับกองทุนที่มีผลการดำเนินงานดีที่สุด (Top Quartile) จำนวนรวมทั้งสิ้น18กองทุน ครอบคลุมทั้งในประเภทกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุน LTFและกองทุนรวมต่างประเทศ จากผลการดำเนินงานกองทุนที่ดีอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้ บลจ.กรุงศรี มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงสุดในอุตสาหกรรมโดยมียอดเงินลงทุนสุทธิกว่า 26,215 ล้านบาท และมีเงินลงทุนสุทธิสูงเป็นอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมในหลากหลายประเทศกองทุน เช่น กองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทมีเงินลงทุนเพิ่มสุทธิกว่า 12,051ล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมมียอดเงินลงทุนสุทธิอยู่ที่ -214,759 ล้านบาท เป็นต้นและในส่วนของกองทุน KFSPLUS ซึ่งมีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นมีเงินลงทุนสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม มูลค่ารวมกว่า 6,797 ล้านบาท อีกทั้งกลุ่มกองทุน LTFก็มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมเช่นกัน นอกจากนี้บริษัทยังมียอดเงินลงทุนสุทธิในกองทุนหุ้น (ไม่รวม LTF-RMF) สูงเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรมอีกด้วย” (ข้อมูล : Morningstar 31 ธ.ค. 61 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวม มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)

“สำหรับกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาวที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงสุด 3 ใน 5 อันดับกองทุนเป็นกองทุนของ บลจ.กรุงศรี ได้แก่ กองทุน KFAFIX กองทุน KFGOVRMF และกองทุน KFMTFI-D อีกทั้ง กองทุน KFAFIX คือ 1 ใน 3 กองทุนอันดับแรกของกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางที่มีผลตอบแทนสูงสุดอีกด้วย นอกจากนี้ กองทุนหุ้นที่ติดอันดับ 10 กองทุนที่มียอดเงินลงทุนสูงสุดในอุตสาหกรรมเป็นกองทุนของบลจ.กรุงศรี ถึง 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนKFLTFA50-D กองทุน KFS100RMF กองทุน KFDIVRMF และกองทุน KFSDIV ซึ่งยังคงรักษาตำแหน่งกองทุนรวมหุ้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 19,807 ล้านบาท ทั้งนี้ บลจ.กรุงศรี มุ่งมั่นที่จะรักษาผลการดำเนินงานที่ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้ผู้ลงทุน” น.ส.ศิริพร กล่าว (ข้อมูล : Morningstar 31 ธ.ค. 61 / ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมมิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต)

 
 
 
 
 
นางสุภาพร ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า“บริษัทมีมุมมองว่าใน ปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งตามรายได้โดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังโครงการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนและคืบหน้าในหลายโครงการ การท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนหลังนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้น ในส่วนของการส่งออกถึงแม้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่มีแนวโน้มว่าปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้บรรยากาศการค้าในตลาดโลกดีขึ้นด้วยจึงเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนจากหลายปัจจัย ดังนั้นหากปัจจัยใดเติบโตอ่อนแอกว่าที่คาดก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ยังจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญยังคงเป็นปัจจัยภายนอก ได้แก่ สงครามการค้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ปัญหาเบร็กซิท และการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป”

“สำหรับมุมมองการการลงทุนในตราสารหนี้คาดว่ากองทุนประเภทตลาดเงินและตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยระยะสั้นที่ทยอยปรับตัวขึ้นภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวก็มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มาก โดยปัจจัยที่สำคัญประกอบด้วยอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบทั้งด้านการส่งออกตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีน และการชะลอตัวในระยะสั้นของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง ทำให้แนวโน้มนโยบายการเงินของไทยมีท่าทีผ่อนคลายลงและการจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทำได้ยากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตลาดตราสารหนี้อาจมีความผันผวนได้บ้างตามความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก”

“นอกจากนี้บริษัทยังมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนระยะกลางถึงยาวแม้ว่าในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย อาจมีความผันผวนและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติและปัจจัยภายนอกประเทศอยู่บ้าง แต่ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยมีค่า P/E ปี 2562 อยู่ที่ 15.0 เท่า ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 15.5 เท่า และ 16.3 เท่า ตามลำดับ ด้านอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เช่นกัน (ข้อมูลจาก บลจ.กรุงศรี ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 62) ทั้งนี้ ในระยะกลางถึงยาวการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยไทยที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงแข็งแกร่ง การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวหลังการเลือกตั้ง และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนของการลงทุนต่างประเทศนั้นบลจ.กรุงศรี มีมุมมองว่าความผันผวนในตลาดต่างประเทศจะลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วแม้ว่าความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่ โดยในปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่าดัชนีทั่วโลกจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดี ตลาดเกิดใหม่นำโดยจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว เนื่องจากปัจจัยหลายประการ อาทิ 1)ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มมีท่าทีคลี่คลาย โดยสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ให้ความเห็นว่าการเจรจากับจีนเป็นไปได้ด้วยดีและประกาศเลื่อนเส้นตายการขึ้นภาษีจากวันที่ 1 มีนาคมออกไป 2)ธนาคารกลางสหรัฐมีท่าทีจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขึ้น 3 ครั้ง ในปีนี้มาเป็น 1 ครั้งหรืออาจไม่ขึ้นเลย เนื่องจากเงินเฟ้อไม่ได้ร้อนแรงและเศรษกิจสหรัฐส่อแววถูกผลกระทบจากปัจจัยสงครามการค้า 3) ความไม่แน่นอนด้านการเมืองยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของ Brexit หรือ Italexit หรือเหตุการณ์ไม่สงบในฝรั่งเศส จะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจและฉุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าเป็นเหตุให้เงินไหลออกเพื่อไปเข้าภูมิภาคที่มีการเติบโตดีและราคาถูกกว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลดีต่อตลาดที่ปรับตัวลดลงไปค่อนข้างเยอะและมี PE ที่ค่อนข้างถูกจากการปรับตัวในปีที่แล้ว ทางบลจ.กรุงศรี จึงแนะนำกองทุน KFACHINA-A และ KF-HCHINAD อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนในประเด็นสงครามการค้ายังคงมีอยู่และความไม่แน่นอนส่วนใหญ่ จะเกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ซึ่งยากที่จะคาดเดา ดังนั้นอีกทางเลือกที่ทางบลจ.กรุงศรี แนะนำคือการลงทุนในกองทุนที่มีการปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ มีการกระจายความเสี่ยงสูง มีความผันผวนต่ำและมีการบริหารโยกย้ายจากสินทรัพย์ตราสารทุนไปสินทรัพย์ตราสารหนี้ได้อย่างยืดหยุ่น นั่นก็คือกองทุนตระกูล Income funds ได้แก่ KF-INCOME, KF-CINCOME, KFMINCOME, KFAINCOME ซึ่งสามารถลงทุนได้ในระยะยาวหรือสามารถลงทุนในกองทุนที่มีลักษณะ Defensive ที่เน้นลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่มสินค้าจำเป็นต่อการอุปโภคบริโภคทั่วโลก อย่างกองทุน KF-GBRAND นั่นเอง” นางสุภาพรกล่าว

 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 มี.ค. 2562 เวลา : 17:24:09
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:26 am