การค้า-อุตสาหกรรม
"กรมเจรจาฯ" จับตาการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง BREXIT


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ติดตามการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลง WTO ของสหราชอาณาจักร หลัง Brexit อย่างใกล้ชิด หนึ่งในนั้นคือการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) คาด ไม่ส่งผลต่อไทย พร้อมให้ทรรศนะ ระดับ การเปิดตลาดฯ ของสหราชอาณาจักรไม่ต่างไปจากเดิม


 
 
 
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักร เพื่อถอนตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ภายในเส้นตายที่กำหนดไว้ในวันที่ 29 มีนาคม 2562 อย่างใกล้ชิด โดยประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองคือ สหราชอาณาจักรจะสามารถออกจากอียูได้อย่างราบรื่นตามความตกลง Withdrawal Agreement หรือไม่ รวมทั้งยังมีประเด็นการเจรจาแก้ไขพันธกรณีภายใต้ความตกลงต่างๆ ของ WTO ที่สหราชอาณาจักรทำไว้แต่เดิมในฐานะสมาชิกอียู ซึ่งรวมถึงความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (Government Procurement Agreement: GPA) ที่เป็นความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) ด้วย

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ (GPA) เป็นความตกลงฉบับหนึ่งภายใต้ WTO มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐระหว่างประเทศภาคีด้วยกัน บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบการจัดซื้อจัดจ้างภายในประเทศที่โปร่งใส ประเทศภาคีสามารถเลือกกำหนดรายการสินค้า บริการ และบริการก่อสร้าง รวมถึงรายชื่อหน่วยงานรัฐ และมูลค่าขั้นต่ำของการจัดซื้อจัดจ้างที่ตนพร้อมเปิดตลาด ปัจจุบัน GPA มีภาคี 19 ราย รวม 47 ประเทศ (สมาชิกอียู 28 ประเทศ) โดยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้ประสบความสำเร็จในการเจรจาเข้าเป็นภาคีความตกลง GPA ด้วยตนเอง (โดยไม่ใช่ในฐานะสมาชิกของอียู) และมีเวลาถึงเดือนสิงหาคม 2562 ในการยื่นหนังสือถึง WTO ตอบรับการเป็นภาคีความตกลงฯ ทำให้เงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกความตกลง GPA ของสหราชอาณาจักร ในบริบทของ Brexit แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรกสหราชอาณาจักรจะเป็นภาคี GPA โดยคงสถานะเป็นสมาชิกอียูไปก่อนจนถึงเส้นตายวันที่ 29 มีนาคม จากนั้น หากสหราชอาณาจักรยังไม่สามารถมีความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะเข้าเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศตัวเองโดยอัตโนมัติ ในทางกลับกัน หากสหราชอาณาจักรทำความตกลงกับอียูได้ สหราชอาณาจักรจะต้องเป็นภาคี GPA ในนามของประเทศสมาชิกอียูต่อไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านตามที่ Withdrawal Agreement กำหนด ซึ่งกรมฯ เห็นว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะระดับการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของสหราชอาณาจักรไม่ได้ต่างไปจากเดิม

ทั้งนี้ ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของ WTO (GPA) มีมูลค่าการเปิดตลาดรวมกันประมาณ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี สหราชอาณาจักรเป็นภาคีที่มีความสำคัญเนื่องจากมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการเปิดตลาดการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของอียู และมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างหากคิดเฉพาะส่วนที่เป็นของหน่วยงานรัฐบาลกลางของอียู โดยปัจจุบันไทยเข้าร่วม GPA ในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีก 31 ประเทศ และในจำนวนนี้มีประเทศที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นภาคีของความตกลงฯ 10 ประเทศ คือ อัลบาเนีย ออสเตรเลีย จีน จอร์เจีย จอร์แดน คีร์กิซ มาเซโดเนียเหนือ โอมาน รัสเซีย และทาจิกิสถาน ส่วนด้านสหราชอาณาจักรนั้น นับเป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 20 ของไทย ในปี 2561 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการค้ารวมของไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 มี.ค. 2562 เวลา : 15:29:45
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 2:51 am