กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กางสถิติส่งออก ชี้เอฟทีเอเอื้อผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย ดันมูลค่าส่งออกสูงกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทะยานสู่อันดับ 1 ของโลก โดยมี จีน อาเซียน และญี่ปุ่น เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยขยายตัวจนเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก เพราะจากเอฟทีเอที่มีผลใช้บังคับในปัจจุบัน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ นั้น มีคู่เจรจาเอฟทีเอที่ไม่เก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทยแล้วถึง 15 ประเทศ ประกอบด้วย อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู และฮ่องกง เหลือเพียง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังเก็บภาษีศุลกากรผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทยบางรายการ เช่น ญี่ปุ่นเก็บภาษีศุลกากรแป้งมันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทยร้อยละ 15 เกาหลีใต้ เก็บภาษีสาคูที่ทำจากมันสำปะหลังร้อยละ 5 และกำหนดโควต้าภาษีกับมันสำปะหลังเส้น (ปริมาณในโควต้า 25,000 ตัน/ปี เก็บภาษีร้อยละ 20 ปริมาณนอกโควต้า เก็บภาษีร้อยละ 887.4) แป้งมันสำปะหลัง (ปริมาณในโควต้า 9,600 ตัน/ปี เก็บภาษีร้อยละ 20 นอกโควต้า เก็บภาษีร้อยละ 887.4) และอินเดีย เก็บภาษีสาคูที่ทำจากมันสำปะหลังร้อยละ 30
นางอรมน เสริมว่า ในปี 2561 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสู่ตลาดโลก 3,111.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึงร้อยละ 10.23 ในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศ รวมมูลค่ากว่า 2,694.4 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 86.6 ของการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยทั้งหมด โดยมีประเทศคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีนเป็นอันดับ 1 มูลค่ากว่า 1,777.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 531 เมื่อเทียบกับปี 2547 ก่อนที่จีนจะลดภาษีให้ไทยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน สำหรับอาเซียนนั้น ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปมูลค่า 485.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 1,237 เมื่อเทียบกับปี 2535 ก่อนที่อาเซียนจะเริ่มลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลงอาฟต้า (AFTA) และญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกของไทยอันดับที่ 3 ซึ่งไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปมูลค่า 294.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าร้อยละ 124 เมื่อเทียบกับปี 2549 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะลดภาษีมันสำปะหลังบางรายการ สอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเออาเซียน- จีน (ACFTA) เอฟทีเอระหว่างอาเซียน (AFTA) เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังกว่า 9 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 30 ล้านตันต่อปี โดยมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพของไทย เนื่องจากเป็นทั้งพืชอาหาร วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ และเป็นพืชที่ใช้ผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งมีตลาดรองรับและเป็นที่ต้องการในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบจากการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้เอฟทีเอ แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับการแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งการมุ่งเน้นการรักษาคุณภาพควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐานสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนพัฒนาการแปรรูปมันสำปะหลังให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงทั้งในรูปแบบของอาหารและไม่ใช่อาหาร ทั้งนี้ ไทยมีผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น แป้งมันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และมันเส้น เป็นต้น
ข่าวเด่น