เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
วางแผนภาษี...อย่างไรหนอ เอื้อ"คนอาชีพอิสระ"รับประโยชน์สูงสุด


หากเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ต้องขอตอกย้ำกันบ่อยๆ โดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านภาษีของกลุ่ม“ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ”เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพอิสระนั้นมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะตัว หรือรับสิทธิประโยชน์ภาษีที่แตกต่างจาก มนุษย์เงินเดือน อาชีพฟรีแลนซ์และอีกหลายๆอาชีพ เพราะสามารถหักค่าใช้จ่ายของวิชาชีพได้จำนวนมาก


โดยคุณควรเริ่มวางแผนทางการเงินให้กับตัวคุณเองตั้งแต่ต้นปี ซึ่งคุณจะสามารถรู้ได้ว่าคุณต้องจ่ายภาษีจำนวนเท่าไหร่และมีวิธีการไหนบ้างที่จะช่วยคุณประหยัดภาษีได้

ดังนั้นเรามารู้ความหมายกันก่อนว่า ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระโดยความหมายแล้วคือใคร คนกลุ่มอาชีพนี้จะเป็นบุคคลที่ทำอาชีพอิสระ โดยไม่ขึ้นอยู่กับนายจ้างคล้ายกับคนทำฟรีแลนซ์ แต่จะต้องเป็นอาชีพที่ต้องได้รับใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางและถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย ได้แก่ แพทย์และพยาบาลประกอบโรคศิลปะ ทนายความและนักกฎหมาย นักบัญชี สถาปนิก วิศวกร นักประณีตและศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่นๆตามมาตรา 40(6)แห่งประมวลรัษฎากร

นอกจากนี้มาดูต่อว่าหากคุณเป็นคนทำอาชีพเหล่านี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯแนะว่า “3แนวทางวางแผนภาษี ที่อาชีพอิสระต้องรู้”เพื่อช่วยวางแผนภาษีให้ลงตัวและคุณจะได้ประโยชน์สูงสุด

แนวทางแรก คุณต้องเข้าใจประเภทรายได้ของตัวคุณเองก่อนโดยหากคุณทำงานในวิชาชีพที่กำหนดไว้ โดยไม่ได้เป็นลูกจ้างของบริษัทที่ได้รับเงินเดือนแต่เป็นการประกอบวิชาชีพเพียงลำพังหรือเป็นการจ้างเป็นงานๆและมีอิสระในการทำงาน

เงินได้ของอาชีพนี้จะเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรา 40 (6) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือ แบบเหมารวม หรือ หักตามจริงแบบมีใบเสร็จ 
 
ประกอบด้วย ผู้ประกอบการอาชีพดังนี้....

การประกอบโรคศิลปะหรือแพทย์ คุณสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60%หรือหักตามจริง

ส่วนคุณประกอบอาชีพ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักประณีต คุณสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้30% หรือหักตามจริง

ทั้งนี้รายได้ทั้งหมดจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%และถูกนำไปคำนวณเงินได้เพื่อคิดภาษี เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ

ลองมาดูตัวอย่างไปพร้อมๆกัน ถ้านาย A อาชีพทนาย มีเงินได้ 1,000,000 บาท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 30% คือ 300,000 บาท โดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 30,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนอะไรเพิ่มเติม จะต้องชำระภาษีจำนวน 18,500 บาท

แนวทางที่ 2.คุณต้องจดบันทึกข้อมูลรายได้-ค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีการรับรายได้ไม่สม่ำเสมอ คล้ายคลึงกับคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ จึงต้องจดบันทึกข้อมูลอย่างละเอียด พร้อมเก็บเอกสารหลักฐานทางการเงินทั้งรายได้และค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ตรวจสอบสถานะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการประกอบอาชีพ

หากพบว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสูงกว่า30%ของรายได้ ก็ควรพิจารณาทางเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง แทนหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา

และแนวทางที่ 3.คำนวณสถานะเงินได้สุทธิเป็นประจำ ทั้งนี้เพื่อวางแผนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ต้องอย่าลืมว่า ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระก็สามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทั้งในส่วนของการลดหย่อนพื้นฐานและการลดหย่อน ด้วยการออมและลงทุนด้วยการซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือประกันชีวิตที่มีความคุ้มครอง10 ปีขึ้นไปก็ได้

โดยคำนวณวงเงินสูงสุดในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีแต่ละประเภทตามฐานเงินได้ของคุณจากนั้นก็ทยอยลงทุน ตามแผนเพื่อประหยัดภาษีและสร้างความมั่งคั่งในยามเกษียณ

ดังนั้นมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอย้ำว่าคุณอย่าลืมวางแผน“เปลี่ยนภาษีเป็นเงินออมและลงทุน”อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตในระยะยาว
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2562 เวลา : 07:54:09
01-07-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ July 1, 2025, 12:41 pm