เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เช็คความพร้อมเงินในกระเป๋าก่อนถอยรถคันใหม่...อย่างคุ้มค่า


งานมอเตอร์โชว์ที่จัดขึ้นทุกปีเป็นแรงเร้าและกระตุ้นต่อมความอยากสำหรับคนรักรถและคนที่ต้องการซื้อรถแต่การจะซื้อรถสักคัน ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตเข้าบ้าน โดยมนุษย์เงินเดือนอย่างคุณๆเพราะนอกจากเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อรถยนต์แล้ว คุณต้องอย่างลืมว่ายังมีภาระค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการที่ต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายผ่อนชำระต่อเดือน(กำลังทรัพย์ของคุณรองรับได้จนถึงงวดสุดท้ายไหม) ค่าน้ำมันรายเดือน ค่าซ่อมบำรุงรักษารถต่อเดือน ค่าตกแต่ง (หากคุณเป็นแนวแฟชั่น หรือพวกรักการซิ่ง) หลังจากนั้นคุณต้องจ่ายค่า maintenance อีกจิปาถะ


แต่ถ้าหากคุณมีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์จริงๆคุณต้องเตรียมความพร้อมในการวางแผนการผ่อนค่างวดรถ สิ่งแรกที่ต้องเริ่มก็คือเลือกยี่ห้อและรุ่นรถที่ชอบ ซึ่งควรพิจารณาสมรรถนะและอุปกรณ์เสริมที่ตอบสนองการใช้งานของคุณ หลังจากนั้นสำรวจราคาและโปรโมชั่นของตัวแทนจำหน่ายแต่ละที่ เพื่อมาเปรียบเทียบกันและให้ได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด เมื่อคุณตัดสินใจเลือกแล้ว มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอเสริมสิ่งที่ควรทำต่อมีอีก 4 ขั้นตอน คุณจะซื้อรถใหม่อย่างไร...ให้คุ้มค่า

คุณต้องมาคำนวณเงินดาวน์และเงินงวดผ่อนชำระก่อน เพื่อประเมินตัวเองว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งทางที่ดีจำนวนเงินที่ใช้ผ่อนรถในแต่ละเดือนควรอยู่ราวๆ 20% ของรายได้และหากคุณยังมีหนี้บ้านหรือหนี้บัตรเครดิตอยู่อีกด้วยก็ต้องพยายามไม่ให้เงินที่ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 50%ของรายได้ เพราะหากมากกว่านี้อาจเป็นภาระหนี้ที่หนักเกินไปเมื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองว่าผ่อนไหวแล้ว หากต้องการประหยัดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถยนต์ก็ควรเก็บเงินดาวน์รถให้มาก และกู้ให้น้อยลง เงินงวดก็จะน้อยลงตามไปด้วย

“เพราะการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถยนต์นั้นจะคิดในอัตราคงที่ (Flat Rate) โดยจะคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินกู้ทั้งหมดตั้งแต่แรกแล้วค่อยนำมาคำนวณเป็นเงินงวดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนอีกที โดยที่ไม่ได้มีการคำนวณแบบลดต้นลดดอกเหมือนสินเชื่อบ้านนั่นเอง”

จากนั้นประเมินค่าใช้จ่ายหลังการซื้อรถยนต์ซึ่งต้องไม่ลืมว่านอกจากภาระค่างวดผ่อนชำระยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆตามมา ทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มที่แพงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ในแต่ละปีก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องอีกหลายรายการ เช่น ค่าภาษีต่อทะเบียน ค่าพ.ร.บ. และค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น

ตามด้วยการวางแผนการเงินเพื่อจัดสรรค่าใช้จ่าย โดยจดรายการให้ละเอียดว่าจะต้องจ่ายค่าอะไรเมื่อไหร่บ้าง หลังจากนั้นก็จัดสรรเงินรายได้ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้และค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าทุกเดือนธันวาคมจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยของปีถัดไป 18,000 บาท ก็ควรวางแผนออมเงินตั้งแต่เดือนมกราคม จำนวน 2,000 บาทต่อเดือนพอถึงปลายปีก็จะมีเงินออมทั้งหมด 24,000 บาท สำหรับจ่ายเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆได้อีก

นอกจากนี้ต้องใช้รถยนต์อย่างคุ้มค่าก่อนนำรถยนต์ออกไปใช้ทุกครั้งลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูให้ดี หากเดินทางคนเดียวไปใจกลางเมืองที่การจราจรติดขัดก็อาจจะเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประหยัดทั้งเงินทั้งเวลา แต่ถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นครอบครัว 4-5 คนก็จะช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ประหยัดและสะดวกกว่าการซื้อตั๋วรถทัวร์ก็ได้

ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์เป็นของตัวเองซักคันอย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ารถยนต์เท่านั้นแต่ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะตามมาอีกมากมาย ถ้าพิจารณาดีแล้วว่าคุณมีความพร้อมทางการเงินเพียงพอและสัญญากับตัวเองได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันนี้อย่างคุ้มค่า

เพียงแค่นี้ก็เดินหน้าวางแผนซื้อรถยนต์อย่างสบายใจได้เลย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 พ.ค. 2562 เวลา : 18:41:32
03-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 3, 2025, 9:57 am