ประกัน
TSI Insurance เดินหน้าสร้างธุรกิจแข็งแกร่ง หลังบอร์ดมีมติเพิ่มทุน


นางสาวอรลดา เผ่าวิบูล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด(มหาชน)หรือTSI Insurance เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของบริษัทฯภายหลังการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรทั้งผู้ถือหุ้นและการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ว่าเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าและบริการให้สามารถแข่งขันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว บริษัทฯได้อยู่ระหว่างดำเนินการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการลงทุนในระบบCore Insurance ใหม่ เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทางธุรกิจประกันภัยในอนาคตที่กำลังจะมาถึงและสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่หรือIFRS 17ที่จะประกาศใช้ในปี 2021 โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯได้พัฒนาและเชื่อมต่อระบบ Web service ให้เป็นช่องทางการขายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตัวแทนรายย่อย โบรกเกอร์และคู่ค้าของบริษัทฯมากขึ้น


นางสาวอรลดากล่าวว่า ปีนี้บริษัทฯยังมีนโยบายด้านการพัฒนาบุคลากรอย่างเข้มข้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ทั้งการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทีมงานให้มีคุณภาพทั้งด้านความรู้และงานบริการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเตรียมความพร้อมสำหรับแผนงานในอนาคตที่มุ่งสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งวางบทบาทให้ทีมงานเปรียบเสมือนที่ปรึกษาให้คำแนะนำด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับลูกค้า ตลอดจนการเปิดรับทีมงานใหม่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเข้ามาเสริมทัพ

สำหรับในปี2562บริษัทฯตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยรับรวมสิ้นปีประมาณ600 ล้านบาท ด้วยกลยุทธ์การรับประกันงานคุณภาพซึ่งมาจากงานกลุ่ม Motor ร้อยละ70แบ่งเป็นประกันภัยภาคสมัครใจร้อยละ70 ครอบคลุมทั้งประกันภัยรถยนต์ประเภท1ประเภท 2 ประเภท 3 และ พ.ร.บ.ร้อยละ 30 ส่วนงานกลุ่ม Non Motor ร้อยละ30จะรุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความโดดเด่นและตรงกับความต้องการลูกค้าแบบครบวงจร ทั้งประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล PAประกันภัยธุรกิจ SMEประกันการเดินทางในประเทศTAประกันภัยบ้าน ประกันภัยทรัพย์สิน ประกันภัยวิศวกรรม ประกันภัยทางทะเลและขนส่งและประกันภัยเบ็ดเตล็ด โดยจะเดินสายพบปะลูกค้าในกลุ่มโบรกเกอร์ตัวแทนในต่างจังหวัดมากขึ้น

ด้านนางสาวคณิดา นิมมาณวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบัญชี(CFO)กล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อให้เป้าหมายทางธุรกิจของTSIมีความคล่องตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจตามแผนข้างต้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาจึงได้อนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯในจำนวนไม่เกิน 1,081,754,992 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 2,163,509,984 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น(Right Offering)รวมเป็นหุ้นสามัญไม่เกิน 3,245,264,976 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.50บาท โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมไม่เกิน 2,163,509,984 หุ้น ในอัตรา 1 หุ้นสามัญเดิมต่อ 2 หุ้นสามัญที่ออกใหม่

โดยกระบวนการก่อนการเพิ่มทุนดังกล่าวบริษัทฯจะดำเนินการลดทุนจดทะเบียนบริษัทฯจาก 1,326,518,451 บาท เป็น 1,081,754,992 บาท ด้วยการยกเลิกหุ้นสามัญที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ออกจำหน่ายจำนวน 244,763,459 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท หลังจากนั้นจะดำเนินการลดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น (Par Value) จากหุ้นละ 1.00 บาท เป็นหุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯลดลงจาก 1,081,754,992 บาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00บาท เป็นจำนวน 540,877,496 บาท โดยมีจำนวนหุ้นสามัญคงเดิมเท่ากับ 1,081,754,992 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

ทั้งนี้เพื่อหักลบส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นและชดเชยผลขาดทุนสะสมที่ยังเหลืออยู่ส่งผลให้ฐานะการเงินของบริษัทฯที่แสดงในงบการเงินสะท้อนสถานะทางการเงินที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจาก 1,081,754,992 บาท เป็น 540,877,496 บาทและเป็นการลดทุนที่สามารถชดเชยผลขาดทุนสะสมในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฐานะการเงิน การขยายธุรกิจและปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทฯในระยะยาว

“แผนการแก้ไขปัญหาทางการเงินข้างต้นได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทแล้ว หลังจากนี้บริษัทฯจะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติแผนดังกล่าวในวันที่ 28 มิถุนายนศกนี้ ซึ่งการดำเนินการภายใต้แผนการลดทุน ลดพาร์ครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบให้มีการเปลี่ยนแปลงต่อมูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงการหักลบตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น”นางสาวคณิดากล่าวพร้อมเพิ่มเติมว่า

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส1/2562ที่ผ่านมา บริษัทฯมีผลขาดทุนลดลงทั้งYoYและQoQสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ทั้งการปรับปรุงพอร์ตการลงทุนและการควบคุมคุณภาพการรับงานประกันภัยเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR RATIO) ในไตรมาสเดียวกันนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 254.35 จากไตรมาสก่อนหน้า (Q4/2561)ที่ร้อยละ 232.23 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่คปภ.กำหนดไว้ ทั้งนี้เมื่อบวกกับแนวทางการแก้ไขปัญหาทางการเงินที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ รวมไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า(2562-2564)ที่บริษัทฯตั้งเป้ามีเบี้ยประกันภัยรับ1,400 ล้านบาทแล้ว เชื่อว่าTSI จะได้รับการปลดเครื่องหมาย "C" จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ในที่สุด
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 พ.ค. 2562 เวลา : 19:08:31
25-05-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 25, 2025, 11:21 am