หุ้นทอง
พ่อแม่มนุษย์เงินเดือน"ออมชิลๆ"...ก็ส่งลูกเรียนนอกได้


พ่อแม่ยุคใหม่โดยเฉพาะกลุ่มพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนต่างยอมรับว่า ปัจจุบันหน้าที่การเงินที่มั่นคงหายากขึ้นในอนาคตการแข่งขันก็จะสูงขึ้นกว่าปัจจุบันอีก ดังนั้นจึงมุ่งหวังต้องการให้ลูกได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศเพื่อจะได้เปิดโลกกว้างทั้งความรู้และประสบการณ์ใช้ชีวิตและเรียนจบกลับมาก็จะได้เปรียบกว่าเพื่อนๆรุ่นเดียวกัน นั่นคือความคิดและความคาดหวังของพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนในยุคนี้

ดังนั้นหากคุณเป็นหนึ่งในพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนที่คิดเช่นนี้และเชื่อว่าการส่งลูกไปเรียนต่อในต่างประเทศเพื่อให้ลูกได้นำความรู้และวิทยาการต่างๆมาต่อยอดความคิด

ซึ่งจะช่วยสร้างอนาคตในหน้าที่การงานที่ดีในระยะยาวได้แต่ก็ยังกังวลว่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะทำได้เหรอ

วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้มนุษย์เงินเดือนอย่างคุณ ลองเปิดใจและเปิดโอกาสให้กับตัวเอง โดยลองทำตามแผน“3 ขั้นตอนส่งลูกโกอินเตอร์สไตล์มนุษย์เงินเดือน”เชื่อว่าคุณส่งลูกเรียนเมืองฝรั่งได้แน่นอน หากคุณลองดำเนินการดังนี้

ก่อนอื่นเลยคุณควรตั้งเป้าหมายการส่งลูกศึกษาต่อ ซึ่งคุณต้องพิจารณาความพร้อมของลูกและฐานะทางการเงินของเราในปัจจุบัน หากมีรายได้มากและมั่นคงก็สามารถส่งลูกไปศึกษาต่อได้ตั้งแต่ระดับมัธยมถึงมหาวิทยาลัย

แต่หากมีฐานะปานกลางและต้องการรอให้ลูกสามารถดูแลตัวเองได้แล้วคุณก็อาจเลือกวางแผนให้ลูกศึกษาต่อต่างประเทศในระดับปริญญาโทใช้เวลา1-2 ปีแทน

จากนั้นคุณก็ต้องทำการสำรวจค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคุณต้องประเมินเผื่ออัตราแลกเปลี่ยนและอัตราเงินเฟ้อด้วย เพราะระยะเวลาตั้งแต่เริ่มเก็บออมไปจนถึงเวลาที่ต้องใช้เงินจริงค่อนข้างยาวนาน ดังนั้นเก็บเงินเผื่อไว้ก่อนก็ไม่เสียหาย

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอยกตัวอย่างการส่งลูกเรียนต่อในระดับปริญญาโทในประเทศอังกฤษใช้เวลาเรียนเพียง 1 ปีมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณดังนี้

ค่าเล่าเรียน 15,000-20,000 ปอนด์ต่อหลักสูตร

ค่าที่พัก 5,000-7,500 ปอนด์ต่อปี

ค่ากินอยู่ ค่าเดินทางและใช้จ่ายทั่วไป 7,000-10,000 ปอนด์ต่อปี

เมื่อรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 27,000-37,500 ปอนด์หรือประมาณ1.5-2 ล้านบาท ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่าครองชีพในแต่ละเมือง ไลฟ์สไตล์ของ การใช้ชีวิตและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แถมบางมหาวิทยาลัยก็มีการเพิ่มค่าเล่าเรียนในอัตรา 5-10%ทุกปีอีกด้วย

เมื่อคุณได้กำหนดเป้าหมายการส่งลูกศึกษาต่อและได้สำรวจค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่คุณต้องเร่งดำเนินการก็คือคุณต้องรีบวางแผนการเงินให้เร็วที่สุดโดยเริ่มต้นจากสำรวจรายรับรายจ่ายของคุณและคู่สมรสดูว่าสามารถจัดสรรเงินออมมาลงทุนในด้านการศึกษาบุตรได้มากขนาดไหน โดยไม่กระทบกับภาระค่าใช้จ่ายเพื่อเป้าหมายอื่นๆของครอบครัว

จากนั้นก็กำหนดแผนการเก็บออมอย่างมีวินัยภายในระยะเวลาที่ตั้งใจไว้ยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้เร็ว และยิ่งเลือกช่องทางการออมที่เหมาะสมกับระยะเวลาและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ดีไม่ดีอาจมีเงินมากพอให้ลูกไปเรียนต่อได้ไกลเกินฝันก็ได้

ตัวอย่าง : เป้าหมายคือออมเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศของลูก 1,500,000 บาท

แผนออมเงิน วิธีที่ 1 ออมเงินตั้งแต่ลูกเริ่มเรียนปริญญาตรี มีระยะเวลาออม 4 ปี พ่อแม่ควรเลือกออมเงินในสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูงมากนัก ถึงผลตอบแทนจะไม่สูงมากนักแต่ก็ยังช่วยเพิ่มโอกาสเติบโตของเงินลงทุนได้บ้าง โดยจัดสรรเงินมาลงทุนในกองทุนตราสารหนี้เดือนละ 28,700 บาท จำนวน 48 เดือน ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4% ต่อปีก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายออมเงินเพื่อการศึกษาต่อต่างประเทศได้ตามที่ฝันไว้ (หมายเหตุ: คำนวณแบบทบต้นทุกเดือน อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้แบบอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ซึ่งตัวเลขต้องดูจากผลตอบแทนในช่วงนั้นๆ แล้วให้ปรับเพิ่มเงินที่จะจัดสรรลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่คุณตั้งเป้าหมายไว้)

หรือวิธีที่ 2 ออมเงินตั้งแต่ลูกแรกเกิดโดยคุณควรทยอยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นที่มีผลการดำเนินงานในอดีตดีอย่างสม่ำเสมอเพราะวิธีนี้มีระยะเวลาออมเงินมากกว่า 20 ปี ทำให้เงินออมมีโอกาสเติบโตได้สูง เพียงแค่จัดสรรเงินมาลงทุน เดือนละ 1,000 บาท ในปีแรกและในปีถัดๆไปให้เพิ่มเงินลงทุนอย่างน้อย 10% ต่อเดือนไปเรื่อยๆเมื่อลูกจบปริญญาตรีตอนอายุ 22 ปี จะมีเงินทุนการศึกษาต่อต่างประเทศได้ประมาณ 2,252,000 บาทเลยทีเดียวเงินลงทุนสะสม สมมุติตัวอย่าง เช่น ปีที่ 1 เงินลงทุนสะสม 12,592 บาท ปีที่ 2 เงินลงทุนสะสม 27,826 บาท ปีที่ 3 เงินลงทุนสะสม 46,117 บาท ปีที่ 4 เงินลงทุนสะสม 67,940 บาท ปีที่ 5 เงินลงทุนสะสม 93,833 บาท

ปีที่ 6 เงินลงทุนสะสม 124,413 บาท ปีที่ 7 เงินลงทุนสะสม 160,377 บาท ปีที่ 8 เงินลงทุนสะสม 202,519 บาท ปีที่ 9 เงินลงทุนสะสม 251,741 บาท ปีที่ 10 เงินลงทุนสะสม 309,065 บาท ปีที่ 11 เงินลงทุนสะสม 375,651 บาท ปีที่ 12 เงินลงทุนสะสม 452,811 บาท ปีที่ 13 เงินลงทุนสะสม 542,033 บาท

ปีที่14 เงินลงทุนสะสม 645,000 บาท ปีที่ 15 เงินลงทุนสะสม 763,617 บาท ปีที่ 16 เงินลงทุนสะสม 900,036 บาท ปีที่ 17 เงินลงทุนสะสม 1,056,688 บาท ปีที่ 18 เงินลงทุนสะสม 1,236,321 บาท ปีที่ 19 เงินลงทุนสะสม 1,442,037 บาท ปีที่ 20 เงินลงทุนสะสม 1,677,333 ปีที่ 21 เงินลงทุนสะสม 1,946,158 บาท และปีที่ 22 เงินลงทุนสะสม 2,252,961 บาท

(หมายเหตุ:คำนวณแบบทบต้นทุกเดือน อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นแบบอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2548- 2558 อยู่ที่ 10.46% ต่อปี)

จากแผนออมเงินข้างต้นควรเลือกแผนการเงินที่เหมาะสมกับฐานะการเงินของครอบครัว ซึ่งจะเห็นว่า ถ้าพ่อแม่เริ่มวางแผนตั้งแต่ลูกยังเล็กจะสามารถทยอยสะสมเงินออมทีละเล็กทีละน้อยจนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเพื่อเป็นเงินทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศของลูกได้ ไม่ยากเกินความสามารถของพ่อแม่มนุษย์เงินเดือนอยู่แล้ว

LastUpdate 06/06/2562 08:41:06 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:34 pm