การค้า-อุตสาหกรรม
"กรมเจรจาฯ" เผยข่าวดี อาเซียนจัดทำกฎหมายรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองเสร็จแล้ว พร้อมใช้ต้นปี 2563


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยข่าวดีอาเซียนพร้อมใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง หลังผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอาเซียนจัดทำระเบียบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องเสร็จแล้ว เตรียมเสนอที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนรับรองในเดือนกันยายน เพื่อให้ผู้ประกอบการอาเซียนได้ใช้ระบบฯ พร้อมกันภายในมีนาคม 2563

 


 
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (The Meeting of the Legal Experts on the ATIGA: MLE) ซึ่งเวียดนามเป็นเจ้าภาพเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ประชุมฯ ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงข้อกฎหมายของระเบียบปฏิบัติฉบับใหม่เพื่อรองรับระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification: AWSC) และเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA Council) รับรองในระหว่างการประชุมซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพในเดือนกันยายนนี้ โดยอาเซียนจะเริ่มต้นใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองพร้อมกันทั้ง 10 ประเทศ ภายในเดือนมีนาคม 2563

นางอรมน เสริมว่า ที่ผ่านมา อาเซียนได้จัดทำโครงการนำร่องระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองจำนวน 2 โครงการ โดยโครงการนำร่องฯ ที่ 1 เริ่มต้นในปี 2553 มีไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา บรูไน และเมียนมาเป็นสมาชิก และโครงการที่ 2 เริ่มต้นในปี 2557 มีไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และเวียดนามเป็นสมาชิก แม้ว่าโครงการนำร่องฯ ทั้งสองโครงการจะมีจุดประสงค์เดียวกัน คือช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน เช่น คุณสมบัติของผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตให้รับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หรือจำนวนรายการสินค้าที่ผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการต้องการส่งออกภายใต้โครงการนำร่องใด ก็จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของโครงการนำร่องฯ นั้นๆ โดยไม่สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าข้ามโครงการได้ ดังนั้น อาเซียนจึงได้รวมโครงการนำร่องฯ ทั้ง 2 โครงการเข้าด้วยกันเป็นระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-wide Self-Certification) เพียงระบบเดียวซึ่งสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสามารถใช้ร่วมกันได้ โดยล่าสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของอาเซียนได้ร่วมกันปรับปรุงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว และพร้อมเสนอระเบียบปฏิบัติในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่ต่อที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนในเดือนกันยายน

ทั้งนี้ จากข้อมูลการใช้ประโยชน์ภายใต้โครงการนำร่องระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง พบว่า ไทยเป็นประเทศที่มีผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียนนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการนำร่องฯ ในปี 2553 โดยปัจจุบัน ไทยมีจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนรวมทั้งสิ้น 330 ราย อันดับที่ 2 ได้แก่ มาเลเซีย 192 ราย และอันดับที่ 3 ได้แก่ สิงคโปร์ 74 ราย ทั้งนี้ คาดว่าเมื่ออาเซียนเริ่มต้นใช้ระบบ ASEAN-wide Self-Certification แล้ว จะทำให้มีจำนวนผู้ส่งออกที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้น อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมการค้าขายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มิ.ย. 2562 เวลา : 19:16:49
17-01-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ January 17, 2025, 3:13 am