วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 1 - 5 กรกฎาคม 2562
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 – 28 มิ.ย.) ตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นอกรอบการประชุมกลุ่ม G-20 ที่ญี่ปุ่นในช่วงท้ายสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยกดดันจากถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ขณะที่ตลาดหุ้นจีน ปิดลบ หลังสหรัฐฯประกาศห้ามบริษัทจีนเพิ่มเติมในการซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทสหรัฐฯ และมีแรงขายหุ้นกลุ่มการเงิน หลังสหรัฐฯ กล่าวหา ธนาคารพาณิชย์จีนขนาดใหญ่หลายแห่งว่า เป็นแหล่งฟอกเงินของเกาหลีเหนือ ด้านตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน ปิดบวก จากความกังวลต่อประเด็นขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ หลังสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และราคาทองคำ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากดอลลาร์ สหรัฐฯ อ่อนค่า หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซา
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดลบ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่นายเจอโรม พาวเวลประธาน Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ ขณะที่ นักลงทุนจับตาการพบปะกันระหว่างประธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง นอกรอบการประชุม G-20 ที่ญี่ปุ่นในช่วงสุดสัปดาห์
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดแทบไม่เปลี่ยนแปลง หลังผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี ในเดือน มิ.ย. ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย.2557
ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดบวก โดยปรับลดลงช่วงแรกจากความไม่แน่นอนในเรื่องสนธิสัญญาการป้องกันประเทศของสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น แต่ดัชนีฯ กลับมาปิดบวก จากความหวังที่ว่า การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะคืบหน้ามากขึ้น
ตลาดหุ้นจีน ปิดลบ หลังสหรัฐฯประกาศห้ามบริษัทจีนอีก 5 แห่งทำการซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทของสหรัฐฯ ขณะที่มีแรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังสหรัฐฯ กล่าวหาธนาคารจีนหลายแห่งว่าเป็นแหล่งฟอกเงินของเกาหลีเหนือ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะถูกตัดออกจากระบบการเงินของสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นไทย ปิดบวก หลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ สนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ด้านคณะกรรมการนโยบายการเงินคงอัตราดอกเบี้ย แต่ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และแสดงความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท
ตลาดน้ำมัน ปิดบวก เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน หลังสหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรผู้นำสูงสุดของอิหร่าน และรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุด 21 มิ.ย.ปรับลดลง 12.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล
ตลาดทองคำ ปิดบวก ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซบเซา และจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ส่งผลให้ นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)
• ผลการหารือระหว่างประธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง นอกรอบการประชุมกลุ่ม G-20 ตกลงที่จะเริ่มหารือด้านการค้ากันอีกครั้ง โดยสหรัฐฯ จะไม่เพิ่มการเก็บภาษีใหม่กับสินค้าส่งออกของจีนมูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะอนุญาตให้บริษัทของสหรัฐฯ สามารถขายชิ้นส่วนอุปกรณ์ให้กับบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยีได้อีกครั้ง แม้สหรัฐฯ จะยังไม่ถอดถอน บริษัท หัวเว่ย ออกจากบัญชีดำทางการค้า เพื่อแลกกับการกลับมาเจรจาการค้า และการที่จีนจะซื้อสินค้าเกษตรจำนวนมากจากสหรัฐฯ
• ถ้อยแถลงประธาน Fed สาขานิวยอร์ก (2 ก.ค.) คาดว่า ยังเป็นไปในเชิงผ่อนคลายนโยบายการเงิน (Dovish) สอดคล้องกับผลการประชุม Fed ครั้งล่าสุด
• การประชุมของกลุ่มโอเปก และนอกกลุ่มโอเปก (1-2 ก.ค.) เราคาดว่า กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะตกลงขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากเดือน มิ.ย.ออกไปจนอีกประมาณ 6 -9 เดือน
• คณะกรรมาธิการยุโรป อาจเสนอบังคับใช้มาตรการลงโทษประเทศสมาชิกกรณีขาดดุลงบประมาณมากกว่าที่กำหนดไว้ต่ออิตาลี (2 ก.ค.) โดยข้อเสนอดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีคลังของยูโรโซน (8-9 ก.ค.)
มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อในสัปดาห์นี้ หลังประธานาธิบดี ทรัมป์ และประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ตกลงที่จะกลับมาเจรจากัน ประกอบถ้อยแถลงของสมาชิกทั้ง Fed และ ECB ยังมีแนวโน้มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายต่อ ขณะที่ นักลงทุนยังคงรอติดตามผลการประชุมโอเปก และนอกกลุ่มโอเปก โดยที่ประชุมฯ มีแนวโน้มจะขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตออกไป ซึ่งจะช่วยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงานให้ปรับเพิ่มขึ้นต่อ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของสงครามการค้าที่ผ่านมา น่าจะส่งผลให้ตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ยูโรโซน จีน และญี่ปุ่น ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ปรับลดลง ประกอบกับ Bond yield สหรัฐฯ มีแนวโน้มกลับมาปรับเพิ่มขึ้น หลังความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนลดลง อาจส่งผลให้ นักลงทุนปรับลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ลง และเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกให้ปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างจำกัด ด้านราคาทองคำ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีความคืบหน้า ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่านยังคงดำเนินอยู่
ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้
ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต และภาคบริการ ของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน / ดุลการค้า การจ้างงานภาคเอกชน และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ / ผลสำรวจทังกันของญี่ปุ่น / ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน / อัตราเงินเฟ้อของไทย / รายงานการประชุมของกนง.
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมโอเปก / ถ้อยแถลงของสมาชิก Fed / ถ้อยแถลงของสมาชิก ECB / เริ่มแคมเปญเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่น
ข่าวเด่น