กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้รับหลักประกัน มีความรู้ ความเข้าใจในข้อกฎหมาย วิธีการปฏิบัติในการบังคับทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน ตลอดจนทราบถึงบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของผู้รับหลักประกันและวิธีการบังคับหลักประกันทางธุรกิจ รวมถึงการใช้งานระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจที่ได้มีการพัฒนาระบบใหม่ได้อย่างถูกต้อง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีประโยชน์อย่างมากต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในปัจจุบัน ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการทั้งรายใหญ่ และรายเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยสามารถนำทรัพย์สินในกิจการ เช่น กิจการ สินค้าคงคลัง สิทธิในบัญชีเงินฝาก เป็นต้น มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน และยังคงสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์หลักประกันดำเนินธุรกิจต่อไปได้
วันนี้ (วันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2562) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดสัมมนาผู้รับหลักประกัน “การบังคับหลักประกันทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ” ให้กับผู้รับหลักประกันกลุ่มสถาบันการเงิน บุคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวงมาแล้ว 2 ฉบับ (กฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน พ.ศ. 2559 และกฎกระทรวงกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับหลักประกัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561) และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับหลักประกัน ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดนนทบุรี โดยมีกลุ่มผู้รับหลักประกันเข้าร่วมสัมมนากว่า 250 คน และได้รับเกียรติจากอาจารย์วสันต์ เอกนุ่ม ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริ่ง ผู้ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าซื้อแบบลิสซิ่ง และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
การสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการเสริมความรู้แก่ผู้รับหลักประกัน ให้ทราบถึงบทบัญญัติของกฎหมาย สิทธิและหน้าที่ของผู้รับหลักประกันและแนวทางการบังคับทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ การพัฒนาปรับปรุงระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ การเพิ่มทรัพย์สินประเภทไม้ยืนต้นในระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
ทั้งนี้ “การนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ลดข้อจำกัดด้านเงื่อนไขหลักประกัน ได้รับต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสม สร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพิ่มโอกาสและศักยภาพของผู้ประกอบการในการทำธุรกิจจากการได้รับเงินทุนสนับสนุน ลดปัญหาการกู้ยืมนอกระบบ สถาบันการเงินมีหลักประกันในการชำระหนี้ตามกฎหมายเพิ่มขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เพิ่มโอกาสในการขยายการให้สินเชื่อ รวมถึงเป็นการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสถาบันการเงิน” รองอธิบดี กล่าวสรุป
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่25 มิถุนายน 2562) มีผู้มาขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 410,669 คำขอ มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน รวมทั้งสิ้น 6,669,642 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องประเภทบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด คิดเป็นร้อย 51.91 (มูลค่า 3,462,084 ล้านบาท) รองลงมา คือ สิทธิเรียกร้องประเภทลูกหนี้การค้าสัญญาจ้าง สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย คิดเป็นร้อยละ 23.08 (มูลค่า 1,539,021 ล้านบาท) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ ช้าง คิดเป็นร้อยละ 21.88 (มูลค่า 1,459,811 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา คิดเป็นร้อยละ 0.03 (มูลค่า 1,985 ล้านบาท) กิจการ คิดเป็นร้อยละ 0.01 (มูลค่า 383 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 138 ล้านบาท) และไม้ยืนต้น คิดเป็นร้อยละ 0.002 (มูลค่า 129 ล้านบาท)
ข่าวเด่น