แม้คุณจะเป็นผู้ลงทุนมือใหม่ แต่ถ้คุณเป็นคนที่มีหัวใจกล้าได้กล้าเสีย และพร้อมที่จะเผชิญหน้า และรับความเสี่ยงได้ ขณะเดียวกัน คุณกำลังมองหาวิธีลงทุนที่จะทำกำไรได้ทั้งในภาวะตลาดขาขึ้นและขาลง คุณต้องไม่ควรพลาดที่จะลงทุนใน “อนุพันธ์” (Derivatives)
สำหรับ "อนุพันธ์" คือ สัญญาทางการเงินที่ทำขึ้นในปัจจุบัน เพื่อตกลง ซื้อขาย หรือ ให้สิทธิในการซื้อขาย “สินค้าอ้างอิง” ในอนาคต พูดง่ายๆ คือ “ผู้ซื้อ” และ “ผู้ขาย” ทำสัญญาตกลงกันวันนี้ ว่าจะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิง จำนวนกี่หน่วย ที่ราคาเท่าใด แล้วจะส่งมอบและชำระราคากันเมื่อใด
ทั้งนี้ ผู้ซื้อ เรียกว่า "มีสถานะซื้อ" หรือ "Long Position" ด้าน ผู้ขาย เรียกว่า "มีสถานะขาย" หรือ "Short Position" และ สินค้าที่ตกลงซื้อขายกัน เรียกว่า "สินค้าอ้างอิง"หรือ "Underlying Asset"
สำหรับ จุดเด่นของอนุพันธ์ ได้แก่ เป็นสัญญาที่มีสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจเป็น“สินค้าโภคภัณฑ์” เช่น ทองคำ น้ำมัน โลหะเงิน สินค้าเกษตรต่างๆ หรืออาจเป็น “สินค้าทางการเงิน” เช่น หุ้นสามัญ พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีทางการเงินประเภทอื่นๆ
เป็นสัญญาที่มีสินทรัพย์อ้างอิง
ซึ่งอาจเป็น “สินค้าโภคภัณฑ์” เช่น ทองคำ น้ำมัน โลหะเงิน สินค้าเกษตรต่างๆ หรืออาจเป็น “สินค้าทางการเงิน” เช่น หุ้นสามัญ พันธบัตร อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหลักทรัพย์ หรือดัชนีทางการเงินประเภทอื่นๆ
ใช้เงินลงทุนน้อย มีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูง ผู้ลงทุนวางเงินประกันเพียง 10-15% ของมูลค่าสัญญา ผลตอบแทนที่ได้รับ (ทั้งกำไรหรือขาดทุน) จึงคิดเป็น สัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับ เงินลงทุนตั้งต้น
เป็นสัญญาที่มีอายุจำกัด เช่น 1 เดือน, 3 เดือน, 6 เดือน และเมื่อสัญญาหมดอายุ ข้อตกลง หรือสิทธิของผู้ซื้อสัญญาก็จะหมดไป ผู้ลงทุนจึงต้องคำนึงถึงลักษณะข้อนี้ ก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย
ส่วนขั้นตอนการลงทุนในอนุพันธ์นั้น มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอนำเสนอ 4 ขั้นตอน ดังนี้
เริ่มจากคุณต้อง กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น หรือเพื่อบริหารความเสี่ยงพอร์ตลงทุนของตนเอง
จากนั้น คุณต้อง คาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิง เนื่องจากราคาสินค้าอ้างอิงเป็นตัวกำหนดราคาอนุพันธ์แต่ละประเภท คุณในฐานะผู้ลงทุนมือใหม่ จึงต้องเข้าใจและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจการลงทุนต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอ้างอิง เพื่อให้สามารถคาดการณ์ทิศทางราคาสินค้าอ้างอิงได้
ขณะเดียวกัน คุณควรวิเคราะห์ด้วยว่า ทิศทางดังกล่าวจะมีความผันผวนมากน้อยแค่ไหน และจะเกิดขึ้นในระยะเวลาใด เพื่อที่จะเลือกใช้กลยุทธ์ลงทุนให้เหมาะกับการคาดการณ์ของคุณ
พร้อมกันนี้ คุณต้อง เลือกกลยุทธ์ลงทุนที่เหมาะสม อันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำให้เข้าใจง่าย
หาก กลยุทธ์ตลาดขาลง คาดว่าตลาดอยู่ในภาวะขาลงและสินค้าอ้างอิงจะมีราคา “ลดลง” ซึ่งกลยุทธ์ที่เหมาะสมในภาวะเช่นนี้ ตลาดขาลง คือ ขายฟิวเจอร์ส (Short Futures) ซื้อพุทออปชัน (Long Put Options) หรือขายคอลออปชัน (Short Call Options)
ขณะที่ กลยุทธ์ตลาดขาขึ้น โดยถ้าคุณคาดว่า ตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้น และสินค้าอ้างอิงจะมีราคา “เพิ่มขึ้น” ซึ่งกลยุทธ์ที่เหมาะสมในภาวะตลาดขาขึ้น คือ การซื้อฟิวเจอร์ส (Long Futures) ซื้อคอลออปชัน (Long Call Options) หรือขายพุทออปชัน (Short Put Options)
และขั้นตอนสุดท้ายที่คุณต้องทำคือ การตัดสินใจซื้อขาย โดยคุณต้องไปปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ ซึ่งคุณสามารถติดต่อขอเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ได้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาต
จากนั้น คุณต้องมีการวางเงินประกัน โดยหลักประกัน 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
หลักประกันขั้นต้น (Initial Margin: IM) คือ หลักประกันที่ผู้ลงทุนต้องวางไว้กับโบรกเกอร์ก่อน ถึงจะมีสิทธิซื้อขายอนุพันธ์ได้
หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin: MM) คือ ระดับหลักประกันขั้นต่ำในบัญชี ซึ่งผู้ลงทุน จะต้องรักษาระดับยอดเงินคงเหลือเอาไว้ หากยอดเงินคงเหลือในบัญชีหลักประกันลดลงต่ำกว่าระดับนี้ โบรกเกอร์จะ เรียกให้ผู้ลงทุน “วางหลักประกันเพิ่ม” (Margin Call)
ต่อมาคุณก็ ส่งคำสั่งซื้อขาย แต่ก่อนส่งคำสั่งซื้อหรือขาย ผู้ลงทุนต้องทราบว่า...
ต้องการ “ซื้อ” หรือ “ขาย” อนุพันธ์ “ประเภทใด”
ต้องการซื้อหรือขายสัญญาที่สิ้นสุดอายุ “เดือนไหน”
ต้องการซื้อหรือขายที่ “ราคา” เท่าใด
ต้องการซื้อหรือขาย “จำนวน” กี่สัญญา
เมื่อส่งคำสั่งซื้อขายผ่านระบบซื้อขายของ TFEX แล้ว ระบบจะทำการจับคู่คำสั่งซื้อขายและจะยืนยัน รายการซื้อขายให้โบรกเกอร์ทราบ เพื่อให้โบรกเกอร์แจ้งแก่ลูกค้าของตน
และจะ สรุปกำไรขาดทุนทุกวัน เพราะหลังจากที่ซื้อหรือขายแล้ว โบรกเกอร์จะคำนวณเงินกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันทำการ (Mark to Market) จนกว่าผู้ลงทุนจะปิดสถานะ โดยคำนวณ จาก “ราคาที่ใช้ชำระราคาประจำวัน” (Daily Settlement Price) ซึ่งจะทำให้เงินประกันเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกวัน
หากเงินประกันลดลงจนต่ำกว่าระดับ “หลักประกันรักษาสภาพ” โบรกเกอร์จะ “เรียกเก็บเงินประกันเพิ่มขึ้น” (Margin Call) ให้เท่ากับ เงินประกันขั้นต้น แต่หากผู้ลงทุนไม่สามารถวางเงินประกันได้ทันตามเวลาที่กำหนด โบรกเกอร์ก็จะปิดสถานะของผู้ลงทุนทันที (Force Sell)
และ ปิดสถานการณ์ลงทุน โดยคุณควรตรวจสอบสถานะของตนอยู่ตลอดเวลา เพื่อตัดสินใจว่าจะถือสัญญานี้ต่อไปหรือไม่ หากได้กำไรตามที่พอใจแล้ว หรือมีผลขาดทุน จนไม่สามารถยอมรับได้และไม่สามารถวางเงินประกันเพิ่มเติมได้แล้ว ผู้ลงทุนสามารถปิดสถานะ (Offset Position) ก่อนที่สัญญาจะหมดอายุ ด้วยการซื้อหรือขายสัญญาเดิมในทิศทางตรงกันข้าม
ดังนั้น การลงทุนในอนุพันธ์ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อคุณที่เข้าใจหลักในการตัดสินใจลงทุน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง
ดังนั้น คุณควรศึกษาและทำความเข้าใจอนุพันธ์แต่ละประเภทให้ดีก่อนเริ่มลงทุน พิจารณาสถานะทางการเงินของคุณเอง ว่ามั่นคงเพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง
เมื่อคุณตามขั้นตอนที่ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ แนะนำ การลงทุนในอนุพันธ์ จะช่วยสร้างกำไรให้คุณได้ในทุกสภาวะตลาดอย่างแน่นอน
ข่าวเด่น