หากคุณต้องการซื้อหุ้นแต่พอคุณล้วงเข้าไปควักเงินออกมานับดู กับราคาหุ้นตัวที่คุณต้องการซื้อ อะจ๊าก! ราคาหุ้นแพงเกินกำลังที่คุณจะซื้อไหวลองมาทำความรู้จักกับ “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์” (Derivatives Warrants) หรือเรียกสั้นๆว่า “DW”
ทั้งนี้ DW ก็คือ ตราสารทางการเงินที่ผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการ “ซื้อ” (Call DW) หรือ “ขาย” (Put DW) หลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคต ตามราคาใช้สิทธิ อัตราการใช้สิทธิ และเวลาที่กำหนดไว้
ความโดดเด่นของ“DW”ที่ Warrant ไม่มี
ส่วนจุดเด่นที่สำคัญของ “DW”นั้น คุณใช้เงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับการซื้อขายหุ้นโดยตรง ทำให้คุณ ในฐานะผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่า แต่หากผู้ลงทุนไม่เข้าใจถึงแก่นการลงทุนใน DW อย่างแท้จริง ก็มีโอกาสขาดทุนในอัตราที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกัน คุณอาจจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงต้องมี DW ในเมื่อก็มี Warrant อยู่แล้ว ก็เพราะว่า แต่ DW จะมีข้อดีกว่าอีกมากมาย
สะท้อนให้เห็นภาพกันชัดๆ ก่อนว่า การจะออก Warrant ได้ ต้องออกโดยบริษัทจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของหลักทรัพย์อ้างอิงเท่านั้น และการออก Warrant ได้ ต้องออกโดยบริษัทจดทะเบียนที่เป็นเจ้าของหลักทรัพย์อ้างอิงเท่านั้น
“ถ้าบริษัทไม่มีความจำเป็น หรือไม่ต้องการออก Warrant ก็จะไม่มีตราสารให้ผู้ลงทุนซื้อขายกัน”
ขณะที่ผู้ออก DW (ปกติจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์) สามารถออก DW ได้โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากบริษัทที่ต้องการนำมาเป็นหลักทรัพย์อ้างอิง ทำให้ DW มีหลักทรัพย์อ้างอิงที่หลากหลาย รวมถึงยังสามารถอ้างอิงกับดัชนีหลักทรัพย์ เช่น SET50 Index ได้
ดังนั้น ประโยชน์ของ DW จึงมีทั้งสิทธิซื้อ (Call DW) และสิทธิขาย (Put DW) หลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งทำให้คุณสามารถเก็งกำไรหรือป้องกันความเสี่ยงได้ ทั้งในตลาดขาขึ้นและขาลง ส่วน Warrant ที่อยู่ใน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแต่สิทธิซื้อ (Call) หลักทรัพย์อ้างอิงเท่านั้น
นอกจากนี้ DW ยังมีผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือที่เรียกกันว่า Market Maker โดยบริษัทหลักทรัพย์ที่ออก DW จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้ราคา DW ขึ้นลงไปตามทฤษฎี ในขณะที่ Warrant ไม่มี
วิธีการเลือกและลงทุนใน DW
สำหรับผู้ที่รู้จักแล้วว่า DW คืออะไรและคุณต้องการเริ่มต้นลงทุนใน DW อยู่แล้วและต้องการแนวทางในการลงทุนที่ชัดเจนมากขึ้น วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักกทรัพย์ฯ พาคุณมาดูขั้นตอนง่ายๆ ในการเลือก DW ให้เหมาะกับคุณ ดังนี้
คุณต้องเริ่มจาก การเลือกหลักทรัพย์อ้างอิง เพราะก่อนที่คุณจะเริ่มลงทุนใน DW ผู้ลงทุนควรมีมุมมองที่ชัดเจนต่อหลักทรัพย์อ้างอิงที่จะทำการลงทุน ถึงแม้ว่าคุณจะสามารถเลือก DW ได้ดีขนาดไหนก็ตาม แต่หากมีการวิเคราะห์หลักทรัพย์อ้างอิงผิดไปตั้งแต่แรก ย่อมทำให้คุณได้รับความเสียหายจากการลงทุนแน่นอน
จากนั้น คุณก็ต้อง คาดการณ์ว่าราคาจะขึ้นหรือลงหากคุณคาดว่าราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวสูงขึ้น คุณก็เลือกลงทุนใน Call DW ซึ่งราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาหลักทรัพย์อ้างอิงที่เพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากคุณคาดว่า ราคาหลักทรัพย์อ้างอิงจะปรับตัวลดลง ก็เลือกลงทุนใน Put DW เพราะราคาของ Put DW จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงปรับตัวลดลง
นอกเหนือจากการมองราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ว่าจะขึ้นหรือลงในลักษณะของการเก็งกำไรแล้ว คุณยังใช้ DW สร้างกลยุทธ์การลงทุนอื่นๆ เช่น การป้องกันความเสี่ยง หรือ การสร้างรูปแบบผลตอบแทนที่แตกต่างจากการลงทุนในหลักทรัพย์อ้างอิงอย่างเดียวได้
ต่อมา คุณก็ต้องเลือก DW แบบที่ชอบ ซึ่งขั้นตอนนี้ คุณต้องตอบคำถามว่า คุณต้องการ DW แบบใด ที่จะทำให้แผนการลงทุนของคุณบรรลุวัตถุประสงค์ได้ดีที่สุด ได้แก่เลือกตามความแรงของการเคลื่อนไหวราคา DW เลือกตามความถูกหรือแพงของราคา DW และเลือกตามความสามารถของผู้ดูแลสภาพคล่อง
นอกเหนือจาก 3 ขั้นตอนในการเลือก DW ดังกล่าว ยังมีเทคนิคในการเลือกและข้อสังเกตต่าง ๆ ที่คุณควรทำความเข้าใจก่อนการลงทุน และเลือกลงทุน DW ที่คิดว่าเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการลงทุนของตนเองมากที่สุด
สุดท้ายเมื่อลงทุน DW แล้ว สิ่งที่มีความแตกต่างจากการลงทุนในหุ้นทั่วไป คือ DW มีกำหนดอายุเวลาที่แน่นอน และเมื่อ DW ครบกำหนดหรือหมดอายุ อาจทำให้ผู้ถือครอง DW ต้องจ่ายภาษี ซึ่งลักษณะที่ทำให้คุณต้องเสียภาษีจากการลงทุนใน DW มีเงื่อนไข 2 ข้อ คือ 1.ไม่ขายคืน DW ภายในวันซื้อขายวันสุดท้าย และ 2. DW มีสถานะ In-the-Money เมื่อหมดอายุ
การลงทุนใน DW จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ลงทุนที่เข้าใจหลักการตัดสินใจลงทุน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจ DW ให้ดีก่อนเริ่มลงทุน พิจารณาสถานะทางการเงินของตนเองว่ามั่นคงเพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และเลือกกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง เท่านี้ ก็จะช่วยสร้างกำไรให้คุณได้แน่นอน
ข่าวเด่น