สำหรับอัตราส่วนทางการเงินแม้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการลงทุนในหุ้น แต่ก็ยังมีผู้ลงทุนหน้าใหม่ หรือแม้แต่ผู้ลงทนมือเก่าจำนวนมากที่ยังไม่ค่อยมั่นใจว่า อัตราส่วนทางการเงินเหล่านั้นหมายถึงอะไรและต้องดูอย่างไร จึงจะสามารถนำไปวิเคราะห์เพื่อเลือกหุ้นดีน่าลงทุนได้
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอทำความเข้าใจ 7 อัตราส่วนทางการเงินยอดฮิตที่นิยมใช้เป็นประจำกัน ได้แก่
Price to Earning หรือ P/E เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นที่บริษัททำได้ในรอบปีล่าสุด เป็นค่าที่จะได้ยินบ่อยที่สุดเพราะสามารถนำมาเปรียบเทียบได้ทั้งหุ้นรายตัวและสภาพตลาดโดยรวม
ดังนั้นคือ ค่า P/E สามารถประมาณการจุดคุ้มทุนให้กับผู้ลงทุนได้ เช่น หุ้น A ราคา 10 บาท มีกำไรต่อหุ้น 1 บาท ดังนั้น P/E เท่ากับ 10 เท่า หรือเราจะได้ทุน 10 บาทคืนเมื่อ ถือหุ้น A ครบ 10 ปี
นี่คือแนวคิดเบื้องต้นที่ทำให้คิดได้ว่า ควรซื้อหุ้นที่ P/E ต่ำๆและขายหุ้น P/E สูงออกไป แต่สำหรับบางกรณีหุ้นที่ P/E สูงๆก็ยังน่าลงทุน เช่น หุ้นที่มีแนวโน้มของกำไรเพิ่มขึ้นหรือที่เรียกว่า Growth Stock หุ้นเหล่านี้จะมี P/E สูง แต่ถ้าต้องการดูว่าสูงจนแพงเกิน ราคาหรือไม่ ต้องดูที่ P/E ไม่เกินการขยายตัวของกำไร เช่น ถ้าคาดหุ้นจะมีกำไรโต 15% ต่อปีก็ไม่ควรมี P/E เกิน 15 เท่า หรือนำ P/E หารด้วย Growth ถ้าได้ต่ำกว่า 1 มากเท่าไรก็ยิ่งดี หุ้นที่มีสภาพคล่องดี มักมี P/E สูงกว่าพวกหุ้นที่มี Market Cap ใหญ่ๆและซื้อขายปริมาณมากในแต่ละวัน
Price to Book Value หรือ P/BV เป็นอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างราคาตลาดของหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น ซึ่งหุ้นที่มี P/BV ต่ำ ย่อมจะดีกว่าหุ้นที่มี P/BV สูง ค่านี้เป็นที่นิยม เพราะหาได้ง่ายจากงบการเงินแต่อาจเบี่ยงเบนจากมาตรฐานได้ถ้าใช้มาตรฐานบัญชีที่แตกต่างกันและไม่เหมาะที่จะใช้กับธุรกิจบริการที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย
Dividend Yield เป็นการวัดอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หากหุ้นตัวใดมีค่านี้สูง แสดงว่ามีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูง ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนพอสมควร
แต่ถ้าหุ้นใดมีค่านี้ต่ำก็ต้องหาข้อมูลต่อไปว่าเกิดจากการทำกำไรได้น้อยหรือเกิดจากนโยบายของบริษัทที่จะนำเงินไปลงทุนมากกว่าจ่ายคืนให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งถ้าเป็นประการหลังและเป็นโครงการลงทุนที่ดี วิเคราะห์แล้วน่าจะมีผลตอบแทนที่สูงก็ไม่ได้แสดงว่าหุ้นตัวนั้นไม่ดีแต่อย่างใด
Turnover Ratio อัตราการหมุนเวียนการซื้อขาย ใช้วัดปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์มีมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับปริมาณหุ้นจดทะเบียน ถ้ามีค่ามากแสดงว่ามีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง คือ สามารถเปลี่ยนหุ้นเป็นเงินสดได้ดี
Net Profit Margin อัตราส่วนกำไรสุทธิ เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลังจากนำรายได้และค่าใช้จ่ายทุกประเภทมาพิจารณาแล้ว
สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของบริษัทในการควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไรสุทธิ ดังนั้น ค่า Net Profit Margin ยิ่งสูงก็ยิ่งเป็นผลดี
ROA หรือ Return on Asset อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ แสดงถึงความ สามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่กิจการนั้นใช้ในการดำเนินงาน ยิ่งมีค่ามาก ยิ่งแสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการทำกำไรได้มาก
และ ROE หรือ Return on Equity อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการทำกำไรจากส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นการวัดผลตอบแทนต่อส่วนของทุนของบริษัทว่าให้ผลเฉลี่ยในระดับใด ยิ่งมีค่ามากก็แสดงว่าผู้บริหารของบริษัทนั้นมีฝีมือในการบริหารงานดี ผู้ถือหุ้นมีโอกาสได้รับผลตอบแทนมาก
นอกจากนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังแนะให้จับตาดู Financial Ratio สูง-ต่ำ เท่าใดถึงจะดี
ทั้งนี้ในการหาตัวเลือกลงทุนที่ดีที่สุดจากตัวเลือกที่มีอยู่หลากหลาย คุณควรพิจารณาเพียงอัตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์อย่างเดียว อาจไม่เพียงพอ
ดังนั้นคุณต้องทำการเปรียบเทียบบริษัทที่ทำการวิเคราะห์กับตัวเลือกการลงทุนอื่นๆที่มีอยู่ นั่นก็คือ เทียบกับบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยมองทั้ง 7 อัตราส่วนทางการเงิน เพื่อดูว่าบริษัทมีข้อดีข้อด้อยในส่วนใด และโดยภาพรวม บริษัทใดน่าจะเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ดีที่สุดเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ซึ่งวิธีนี้นักลงทุนต้องรวมตัวเลขงบการเงินของกิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน แล้วนำมาจัดทำอัตราส่วนทางการเงินของกลุ่มอุตสาหกรรม (ไม่แนะนำให้หาอัตราส่วนทางการเงินรายบริษัทในอุตสาหกรรมแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยเนื่องจากจะได้ ค่าเฉลี่ยที่ไม่ได่มีการถ่วงน้ำหนักในการคำนวน)
จากนั้นจึงนำอัตราส่วนทางการเงินของกิจการที่วิเคราะห์มาเปรียบเทียบกับตัวเลขของอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้รู้ว่ากิจการที่วิเคราะห์มีสถานะที่ดีหรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม
7 อัตราส่วนทางการเงินนี้ ถือเป็นอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญและมักได้ยินบ่อยๆ ซึ่งมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อว่าจะช่วยให้คุณเข้าใจความหมายและสามารถติดตามข้อูลต่างๆได้ และมีความเข้าใจมากขึ้น แต่ถ้าจะให้ดีคุณควรมีการศึกษาหาข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมด้วย
แม้การลงทุนจะมีความเสี่ยง แต่หากคุณสามารถบริหารความเสี่ยงให้น้อยลงได้ โดยการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน คุณก็จะสามารถเอาชนะการลงทุนได้เหมือนกัน
ข่าวเด่น