ผู้ลงทุนมือใหม่อย่างคุณ หากต้องการทำความรู้จักกับหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯหรือ SET และตลาดหลักทรัพย์ MAI ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนอยู่ในสองตลาดนี้มากกว่า 600 บริษัท
ดังนั้นจึงคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณ และคุณอาจจะต้องใช้เวลาในการทำความรู้จักปัจจัยพื้นฐานหุ้นเหล่านี้ เพื่อนำมาวิเคราะห์ เจาะลึก หุ้นตัวไหนน่าลงทุน พื้นฐานแข็งแกร่ง หรือจะมีวิธีอื่นใดที่จะช่วยให้คุณสามารถคัดกรองหุ้นที่อ่อนแอออกไปและเหลือไว้เฉพาะหุ้นที่แข็งแกร่งเพียงไม่กี่ตัว เพื่อให้คุณสามารถเข้าไปเจาะลึกรายละเอียดของหุ้นนั้นๆก่อนตัดสินใจลงทุน
คุณคงคิดหนักหละซิ เอ! จะมีวิธีไหน ใครช่วยบอกที มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ หละซิ มีวิธีดีๆมาบอกต่อ นั่นก็คือ “เทคนิค Screen หุ้น แบบเร่งด่วน” ช่วยตรวจสอบ ภาพรวมอุตสาหกรรมและบริษัท
สิ่งแรกที่ต้องเริ่มลงมือ คือ การตรวจสอบว่าบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมอะไร เป็นธุรกิจที่คุณสนใจหรือไม่ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเป็นอย่างไร ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเป็นอย่างไร เพื่อประเมิน เบื้องต้นว่า คุณพอใจที่จะเข้าไปลงทุน หรือคุณจะหลีกเลี่ยงบริษัท หรืออุตสาหกรรมเหล่านี้
ลองมาดู ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบ้านจัดสรรในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์จะขายดิบขายดี เมื่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลงและจะขายไม่ค่อยออกเมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ซึ่งการคาดการณ์ในอนาคตของคุณเกี่ยวกับดอกเบี้ยจะเป็นเครื่องชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีแนวโน้มอย่างไร ทำให้คุณมีเหตุผลประกอบที่จะตัดสินใจว่าจะเข้าไปลงทุนหรือไม่
จากนั้นก็มาตรวจสอบมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization)ก่อนอื่นมารู้จัก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ซึ่งหมายถึงมูลค่าของกิจการ โดยวัดจากราคาตลาดของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นของบริษัท
ทั้งนี้คุณสามารถนำมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์มาจัดกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงมาก (Large caps) บริษัทที่มีมูลค่าตลาดปานกลาง (Mid caps) และบริษัทที่มีมูลค่าตลาดน้อย (Small caps)
โดยหุ้นแต่ละกลุ่มจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว ซึ่งอาจส่งผลทั้งทางบวกและลบ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง เพราะโดยทั่วไปบริษัทในกลุ่ม Large caps จะมีความมั่นคง ส่วนบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมา จะมีจุดเด่นในเรื่องการเติบโต
ดังนั้นการตัดสินใจว่าคุณจะสนใจหุ้นกลุ่มใดเป็นพิเศษจะทำให้คุณตัดบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอื่นออกไปได้ ทำให้จำนวนหุ้นที่คุณจะพิจารณาจริงจังเหลือน้อยลง
ต่อมาคุณก็ต้อง ตรวจสอบอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่า เนื่องจากอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการประเมินมูลค่าบางตัว เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) หรือ อัตราส่วนราคาต่อยอดขาย (P/S) สามารถใช้เป็นตัวกำหนด หรือพิจารณาว่าผู้ลงทุนในตลาด มองแนวโน้มการเติบโตของผลการดำเนินงาน (ยอดขายหรือกำไร) ของบริษัทอย่างไร
หากบริษัทมีอัตราส่วนเหล่านี้ “สูง” แสดงว่า 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย ผู้ลงทุนในตลาดให้ความสำคัญมาก มองว่าบริษัทนั้นจะเติบโตต่อไปได้ ราคาหุ้นในวันนี้จึงมีค่าสูง ซึ่งหุ้นที่มีอัตราส่วนที่ใช้ในการประเมินมูลค่าสูง มักถูกพิจารณาว่าเป็น “Growth Stock”
ในทางกลับกันส่วนหุ้นที่มีอัตราส่วนเหล่านี้ “ต่ำ” จะถูกพิจารณาว่าเป็น “Valued Stock” เนื่องจาก 1 บาทของกำไรหรือยอดขาย ผู้ลงทุนเห็นว่าไม่ได้มีผลกระทบต่อการ ขยายตัวของกิจการ ราคาหุ้นในตลาดจึงไม่สะท้อนมากนัก
นอกจากนี้คุณยังต้องตรวจสอบ ปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) คือ จำนวนเฉลี่ยของหุ้นที่ซื้อและขายต่อวันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
หากค่าเฉลี่ยของปริมาณการซื้อขายต่อวันมีค่าน้อย สะท้อนว่าหุ้นของบริษัทนั้นไม่ค่อยมีสภาพคล่องในการซื้อขาย ถือเป็นอุปสรรคในการลงทุนอย่างหนึ่ง คุณจึงสามารถนำปริมาณการซื้อขาย มาเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองหุ้นให้เหลือน้อยลงได้เช่นกัน
อีกทั้งต้อง ตรวจสอบจำนวนหุ้นที่สามารถซื้อขายได้ (Free Float) ก็คือ จำนวนหุ้นของบริษัทที่อยู่ในมือของผู้ลงทุน โดยไม่รวมจำนวนของผู้บริหารและกรรมการ ซึ่งอยู่ระหว่างการห้ามนำออกมาขายแก่สาธารณชน (Silent Period)
ทั้งนี้จำนวนหุ้นที่เรียกว่า “Float” แสดงให้เห็นถึงโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนมือในการซื้อขายประจำวัน ซึ่งการพิจารณาจำนวน Float นี้ เกี่ยวข้องกับกลยุทธ์การเลือกหรือค้นหาหุ้นด้วย เพราะผู้ลงทุนบางคนค้นหาบริษัทที่น่าสนใจและมีจำนวนหุ้นที่ Float ไม่มากนัก เนื่องจากถ้ามีข้อมูลในทิศทางบวกของบริษัทเหล่านี้และซื้อเอาไว้ก็จะมีโอกาสได้กำไรสูง
ขณะที่นักลงทุนบางคนก็ สนใจหุ้นที่มี Float มาก เพราะมีแนวโน้มสภาพคล่องในการซื้อขายสูง โอกาสเข้าหรือออกจากตลาดในการซื้อขายหลักทรัพย์ก็จะทำได้ง่าย
ตรวจสอบกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งการคัดเลือกหุ้นอาจพิจารณาจากกระแส เงินสดของบริษัท โดยเฉพาะกระแสเงินสดสุทธิ จากการดำเนินงาน ซึ่งมาจากกำไรสุทธิ และกระแสเงินสดสุทธิอื่นๆ ที่ได้จากการดำเนินงาน
โดยคุณสามารถดูได้จากงบกระแสเงินสด ซึ่งกระแสเงินสดที่ใช้เป็นเกณฑ์เบื้องต้น เพราะที่จะเป็นตัวบอกว่า บริษัทมีฝีมือในการบริหารงานจากธุรกิจหลักของตนเองอย่างไร
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอโชว์ตัวอย่างการกำหนดเกณฑ์ในการขายสินค้า บริการ เช่น ถ้าบริษัทใดมีกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานติดลบ คุณควรตัดออกไป จากการเป็นหุ้นใน Watch List
ขณะเดียวกันคุณต้องตรวจสอบประวัติการเติบโตของยอดขายและกำไรในอดีต ซึ่งเกณฑ์อันหนึ่ง ที่คุณต้องใช้พิจารณาว่าหุ้นของบริษัทนั้นน่าสนใจหรือไม่ คือ คุณควรติดตามดูประวัติการเติบโตของยอดขาย และกำไรในอดีต
ดังนั้นบริษัทที่น่าสนใจจะมีขนาดและอัตราการเติบโตของยอดขายและกำไรที่เพิ่มขึ้นและมีความต่อเนื่อง
นอกจากนี้ต้องตรวจสอบความล้าสมัยของผลิตภัณฑ์ของกิจการ เพราะในการคัดเลือกหุ้นที่คุณจะลงทุนต้องพิจารณาด้วย ตัวสินค้าและบริการของบริษัทว่ามีแนวโน้มจะล้าสมัยหรือไม่
สิ่งเหล่านี้กระทบต่อโอกาสการเติบโต ทั้งการลงทุนในสินทรัพย์ ยอดขาย และกำไรของบริษัท ถ้าคุณพบว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทล้าสมัย คุณสามารถใช้เป็นเกณฑ์ตัดหุ้นของบริษัทเหล่านั้นออกจากการพิจารณาได้
หากคุณเลือกใช้วิธีการตรวจสอบ หรือเทคนิค Screen หุ้นแบบเร่งด่วน อย่างที่ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์แนะนำเพียงเท่านี้ คุณก็สามารถคัดกรองหุ้นให้เหลือจำนวนน้อยลง ซึ่งจะอยู่ในวิสัยที่คุณพอรับมือได้
ดังนั้นงานที่เหลือหลังจากนี้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของคุณ โดยไปศึกษาข้อมูลปัจจัยพื้นฐานต่างๆเพื่อตัดสินใจลงทุนต่อไป
ข่าวเด่น