การลงทุนของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ลงทุนมือใหม่พอเริ่มต้นลงมือลงทุนก็มักมีหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง บางคนถนัดใช้ปัจจัยพื้นฐานคัดเลือกหุ้น ขณะที่บางคนถนัดใช้ปัจจัยเทคนิคเป็นเครื่องมือหลักจับจังหวะทำกำไร ต้องบอกว่า ล้วนเป็น“ความถนัด” ที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
แต่สิ่งหนึ่งที่คุณทุกคนควรรู้และปฏิบัติตามอย่างมีวินัย นั่นคือการหยุดการขาดทุนไม่ว่าจะด้วยวิธี “Stop Loss” หรือ “Cut Loss” นั่นเอง
ทั้งนี้ Warren Buffett นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่มีกฏเกณฑ์ในการลงทุนที่เคร่งครัดและWarren Buffett มักบอกกฏเหล่านี้ของเขาให้แก่ผู้ลงทุนฟังอยู่เสมอ นั่นคือ...
กฎข้อที่ 1 ห้ามขาดทุน (Never lose money)
และ กฎข้อที่ 2 อย่าลืมกฎข้อที่ 1 (Never forget rule no. 1)
เพราะ Warren Buffett รู้ดีว่าในการลงทุนนั้นหากคุณสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว การจะทำให้เงินลงทุนกลับมาเป็นเท่าเดิมนั้นยากยิ่งกว่า ดังตารางข้างล่างที่แสดงให้เห็นถึงผลของการขาดทุนเงินลงทุนตั้งต้น
หากคุณเริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 10,000 บาท และขาดทุน
การดูแค่นี้คุณคงคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ยากอะไร แต่ถ้าหากคุณไม่สามารถหยุดเปอร์เซ็นต์การขาดทุนได้และจนทำให้ขาดทุนหนักถึง 90% ปัญหาที่ตามมา คุณจะต้องหาสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้มากถึง 900% เพื่อให้เงินลงทุนกลับมาเท่าเดิมและการที่คุณจะหาสินทรัพย์เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนมากเท่านั้น คุณก็คงต้องอาศัยเวลาและโชคชะตาที่จะช่วยคุณได้เท่านั้น
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ยิ่งกว่าการลงทุนให้ได้กำไรก็คือ.....การพยายามรักษาเงินต้นเอาไว้และหยุดการขาดทุนให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งปกติแล้วการ Cut Loss และ Stop Loss มักจะใช้เพื่อจุดประสงค์ 2 อย่าง คือ ใช้เพื่อหยุดการขาดทุนและปกป้องเงินลงทุน และ ใช้เพื่อปกป้องกำไร
พอมาถึงจุดนี้ คุณอาจสงสัยว่าการหยุดขาดทุนด้วยวิธีการ Cut Loss และ Stop Loss นั้น แตกต่างกันอย่างไร มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขออธิบายแบบสั้นๆง่ายๆ
Cut Loss ก็คือ คุณขายหุ้นออกไปโดยยอม"ขาดทุน"แต่ที่คุณต้องทำเช่นนี้ เพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด ก่อนที่จะขาดทุนมากไปกว่าปัจจุบัน
ส่วน Stop Loss หมายถึงการหยุดเพื่อไม่ให้ราคาหุ้นในพอร์ตลดลงไปมากกว่านี้ ซึ่งขณะที่ทำการ Stop loss นั้น คุณอาจขาดทุน หรือได้กำไรอยู่ในขณะที่ขายก็ได้ แต่การที่คุณต้องขายออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้กำไรของคุณลดลงกว่าที่เป็นหรือขาดทุนหนักมากขึ้น
สำหรับวิธีการตั้งจุดหยุดขาดทุนเพื่อมือใหม่นั้น วิธีการที่นิยมใช้กันนั้น มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอแนะนำ 3 วิธีด้วยกันดังนี้
วิธีแรก คือ Percentage Stop Loss ซึ่งเป็นวิธีการตั้งจุดหยุดขาดทุนที่ง่าย และทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยนำเปอร์เซ็นต์ Stop Loss (หรือเปอร์เซ็นต์ที่รับได้หากขาดทุน) มาคูณกับราคาต้นทุนที่ซื้อหุ้นนั้น
ตัวอย่างเช่น ซื้อไว้ที่ราคา 10 บาท คุณตั้งเปอร์เซ็นต์ตัดขาดทุนไว้ที่ 5% คำนวณจุดหยุดขาดทุนได้ 10 x 5% = 0.50 บาท
หมายความว่า คุณยอมรับการขาดทุนได้ที่ 0.5 บาท ดังนั้น หากราคาหุ้นที่คุณถืออยู่ลดลงจาก 10 บาท เป็น 9.50 (10 - 0.50) บาท ต้องตัดสินใจขาย
การตั้งเปอร์เซ็นต์หยุดขาดทุนนั้นเป็นค่าที่ไม่ตายตัว โดยขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ และความเต็มใจในการยอมขาดทุนของคุณนั่นเอง
สำหรับวิธีการที่สอง Price Pattern Stop Loss ก็คือ การตั้งจุด Stop Loss ตามสิ่งที่กราฟบอก ซึ่งวิธีการนี้ เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ด้าน Technical มาพอประมาณแล้ว โดยเป็นการใช้เส้นแนวโน้ม แนวรับ และแนวต้าน เป็นตัวกำหนดจุด Stop Loss
ตัวอย่างเช่น การใช้เส้นแนวโน้มตีกรอบราคาไว้จากราคาหุ้นต่ำสุด ในแต่ละช่วงเวลา หากราคาของหุ้นหลุดแนวรับเมื่อใด คุณก็ขายหุ้น เพื่อStop Loss ทันที
และวิธีการที่สาม Volatility Stop Loss วิธีนี้ก็คือ การตั้งจุด Stop Loss โดยใช้ความผันผวนจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น นิยมใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Average True Range (ATR) ซึ่ง ATR จะเข้ามาช่วยคำนวนราคา Stop Loss จากราคาสูงสุดต่ำสุด ภายในช่วงเวลา (ความผันผวน) มาให้ ค่าที่คำนวณได้จะแสดงในรูปแบบของจุดสีแดงใต้ราคา หากวันไหนราคาปิดตัวลงมาต่ำกว่าราคาที่ ATR คำนวณไว้ให้ก็ขายหุ้นเพื่อ Stop Loss
สำหรับวิธีการ Stop Loss นั้น มีหลากหลายวิธีที่คุณสามารถศึกษาและเลือกใช้ ให้เหมาะกับสไตล์การลงทุนของคุณ แต่คุณควรพึงระลึกไว้เสมอว่า การลงทุนมีความเสี่ยง หากมีวิธีการไหน สามารถช่วยบรรเทา หรือจำกัดความเสี่ยงของคุณที่จะสูญเสียเงินลงทุนได้
ดังนั้นคุณควรศึกษาทางหนีทีไล่เหล่านั้นไว้พร้อมทั้งปฏิบัติตามอย่างมีวินัย เพื่อตัวของคุณและเงินลงทุนของคุณเองด้วยนะจะบอกให้
ข่าวเด่น