คุณเคยสงสัยไหม ทำไม! “วอเรน บัฟเฟตต์” ผู้ลงทุนระดับปรมาจารย์สายปัจจัยพื้นฐานที่เน้นคุณค่า หรือ Value Investing ถึงให้ความสำคัญกับการหลีกเลี่ยง“ภาวะขาดทุน” และตั้งเป็นกฎทองของการลงุทน 2 ข้อ โดยกฎข้อแรก อย่าขาดทุน และกฎข้อที่สอง อย่าลืมกฎข้อแรก แทนที่จะตั้งกฎที่ให้ความสำคัญกับการเลือกหุ้น การมองเทรนด์ให้ขาด วัดมูลค่าให้เป๊ะ หรือเทคนิคอะไรที่ดูซับซ้อนกว่าคำว่า “อย่าขาดทุน”
สะท้อนให้เห็นว่า วอเรน บัฟเฟตต์ เน้นการลงทุนที่ปลอดภัย เน้นต้องรักษาเงินต้นมากกว่าเน้นทำกำไร ที่คุณมักเน้นว่า ต้องให้ได้เท่านั้น ต้องได้เท่านี้ ภายในกี่ปี เป็นกี่เด้งของต้นทุน
นอกจากนี้ยังย้ำว่าเพราะการทำธุรกิจมีทั้งโอกาสและความเสี่ยงตลอดเวลา เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นก็ต้องรับโอกาสและความเสี่ยงเหล่านั้นมาด้วย เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง “แผนธุรกิจอาจไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ยอดขายอาจไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ การลงทุนใหม่อาจไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มอย่างที่กิจการตั้งใจ” ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้
ดังนั้นถ้าคุณต้องการหลีกเลี่ยงอาการ “ขาดทุน” คุณจำเป็นต้องประเมินสถานการณ์ว่า กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case Scenario) กิจการจะมีมูลค่าเหลือเท่าใด ราคาหุ้นจะตกลงมาเหลือเท่าไหร่ เงินลงทุนจะเสียหายมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการมองความเสี่ยงทางลง (Downside Risk) จึงมีความสำคัญมาก
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยบอกว่า และนี่ก็คือที่มาของกลยุทธ์การลงทุนอย่างปลอดภัย โดยการตั้งค่า “ส่วนเผื่อความปลอดภัย” หรือ Margin of Safety (MOS) ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่คุณลงทุน คุณต้องตั้งค่านี้ไว้ทุกครั้งก่อนเข้าซื้อหุ้น
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอทำให้คุณเข้าใจง่ายๆ นั้นก็คือ เมื่อคุณประเมินมูลค่าหุ้นได้มูลค่ายุติธรรม (Fair Price) แล้ว คุณก็ต้องใส่ส่วนเผื่อความปลอดภัยเข้าไปด้วย
ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณประเมินมูลค่าหุ้น A ได้มูลค่ายุติธรรมที่ 10 บาทต่อหุ้น หากคุณตั้งส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) หรือ MOS ไว้ที่ 20% นั่นแปลว่า ราคาที่เข้าโซนซื้อหุ้น A ก็คือ ราคาตั้งแต่ 8 บาทลงมา
ตีความจากจุดนี้ Margin of Safety ของ วอเรน บัฟเฟตต์ ก็คือ สิ่งที่ช่วยให้กฎการลงทุนที่สำคัญที่สุดข้อ 1 ของเขา ซึ่งก็คือ “อย่าขาดทุน” เป็นจริงได้ในทางปฏิบัติ
ทีนี้คุณลองมองไปที่ตลาดหุ้นไทยช่วงหลายปีนี้ ที่ P/E ตลาดประมาณ 15-20 เท่า ซึ่งแตกต่างจากสมัย 10 กว่าปีที่แล้ว ที่ P/E ต่ำกว่า 12 เท่า การจะซื้อหุ้นพื้นฐานดี มีโอกาสเติบโตสูงที่ราคาถูกมากๆ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
ดังนั้น“หัวใจของการลงทุน”ที่ต้องมี Margin of Safety คือ ความอดทน รู้จักรอคอยโอกาส แต่อย่าเพิ่งท้อใจ โอกาสที่ดียังคงมีอยู่เสมอ นั่นคือ ต้องรอซื้อหุ้นตอนวิกฤตให้ได้ เพราะในช่วงวิกฤต ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง ทำให้คุณสามารถคัดหุ้นพื้นฐานดี (Good Stock) ได้ในราคายอดเยี่ยม (Good Price) ซึ่งการซื้อหุ้นในเวลาวิกฤตนี่แหละ ที่จะทำให้คุณซื้อหุ้นได้ในราคาค่อนข้างต่ำ เป็นราคาที่มี Margin of Safety ขณะที่โอกาสขาดทุนในระยะยาวแทบไม่มี
แต่ “หัวใจของการลงทุนที่แอบซ่อนอยู่” ภายใต้คำว่า Margin of Safety หรือการลงทุนที่ต้องมี Margin of Safety คือ ความอดทน รู้จักรอคอยโอกาส ที่ต้องรอจนกระทั้งหุ้นชั้นดี ที่คุณอยากซื้อมานาน มีราคาที่เหมาะสม ยิ่งหากเป็นวิกฤตชั่วคราวที่มากระทบให้ราคาหุ้นลดลง และวิกฤตนั้นไม่ได้ลดทอนความสามารถในการดำเนินงานระยะยาวของกิจการ นั่นคือ โอกาสทองของการลงทุน อย่างที่ วอเรน บัฟเฟตต์ บอกไว้
และนี่เองจึงเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะบุคคลของ “วอเรน บัฟเฟตต์” ที่คุณเคยได้ยินข่าวในช่วงก่อนปี 2000 นอกจาก วอเรน บัฟเฟตต์ จะไม่แตะหุ้นดอทคอมที่กำลังขึ้นร้อนแรงและแพงมากแล้ว วอเรน บัฟเฟตต์ ยังแทบไม่ได้ซื้อหุ้นเลยเป็นเวลานานหลายปี และเมื่อวิกฤตมาถึง ก็คือโอกาสทองในการลงทุนซื้อหุ้นดีเข้าพอร์ตอย่างเต็มที่
ดังนั้นความอดทน การรอคอยโอกาส นำไปสู่ความเหนือชั้นของ วอเรน บัฟเฟตต์ แถมยังเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ปลอดภัย แบบที่คุณสามารถเดินตามรอยเซียนอย่างวอเรน บัฟเฟตต์ ได้ไม่ยาก
ข่าวเด่น