หุ้นทอง
จังหวะ"Bear Market".....คุณจะเอาตัวรอดยังงัย


แม้ว่าคุณจะคุ้นชินหรือได้เห็นอารมณ์ของของตลาดหุ้นกันมาแล้วก็ตาม แต่ต้องขอมาทบทวนความจำกันอีกครั้ง โดยเฉพาะคนที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะก้าวเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ให้ได้รู้จักกันก่อนว่าภาวะ “ตลาดหมี” หรือ Bear Market และภาวะ “ตลาดกระทิง” หรือ Bull Market ที่อยู่คู่ตลาดหุ้นทั่วโลกมาอย่างยาวนานนั้น เขามีอาการกันเยี่ยงไร

 
 
 
สำหรับ“ตลาดหมี”เขาจิตนการมาจากอาการของหมีที่มีลักษณะของอาการจำศีลหรืออาการหลับใหล เปรียบเสมือนได้กับอารมณ์หรือภาวะตลาดหุ้นช่วงขาลงที่บรรยากาศการซื้อขาย “ซบเซา” น่าหาวนอน

ขณะที่ “ตลาดกระทิง” ก็มาจากลักษณะหรืออาการความดุดัน เข้มแข็งของกระทิง ซึ่งเปรียบได้กับภาวะตลาดขาขึ้นที่มีการซื้อขายอย่าง “คึกคัก” ร้อนแรง ช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้น คุณอาจไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่ซื้อและถือหุ้นไว้ก็สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้

ดังนั้นเมื่อภาวะตลาดหุ้นเริ่มเข้าสู่ขาลงเมื่อไหร่ เชื่อได้เลยว่าคุณต่างพยายามสรรหาหาวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป แต่วันนี้ มาลองดูวิธีการของมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯกันว่า...คุณจะเอาตัวรอดจากการลงทุนในภาวะตลาดหมีได้อย่างไรบ้าง

ถ้าตลาดหุ้นขาลง แล้วคุณขายหุ้นออกทั้งหมด หันมาถือเงินสด 100% วิธีการแบบนี้ถือว่า คุณค่อนข้างสุดโต่ง แสดงให้เห็นว่าคุณมีความหวาดกลัวและตื่นตระหนกกับตลาดหุ้นขาลงเป็นอย่างมาก ประมาณว่าเมื่อไหร่ที่มีสัญญาณว่าจะเกิดภาวะตลาดหมีจะขายหุ้นทั้งหมดทันที

ความโดดเด่นของวิธีการนี้ อยู่ที่คุณแทบจะไม่มีการสูญเสียเงินลงทุนเลย แต่อันตรายจะเกิดเมื่อตอนกลับเข้ามาในตลาด เพราะคำว่าความหวาดกลัวและตื่นตระหนกจะติดตัวไป ผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้จังหวะในการตัดสินใจลงทุนผิดพลาดหรือล่าช้าไปบ้าง

หากตลาดหุ้นขาลง คุณขายหุ้นบางตัว วิธีการก็คือ ขายหุ้นบางส่วนออก เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด ด้วยการขายหุ้นที่มี ราคาตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Overvalue) เพราะหากตลาดซบเซา หุ้นที่มีราคาแพงๆจะมีโอกาสปรับตัวลงค่อนข้างแรง

ข้อดีของการขายหุ้นบางตัว คือจะมีเงินสดเก็บไว้ในมือและหากตลาดเริ่มมีสัญญาณภาวะกระทิงเมื่อไหร่ ก็จะมีเงินเข้าไปซื้อหุ้นพื้นฐานดีในราคาถูกๆ ซึ่งถือเป็นการป้องกันตนเองอีกทางหนึ่ง ในช่วงที่ตลาดย่ำแย่ และเป็นการปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับสถานการณ์

ส่วนข้อเสีย ก็คือ บางครั้งการมีเงินสดถืออยู่มากเกินไป อาจทำให้เกิดค่าเสียโอกาสจากการที่ไม่รู้จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในสินทรัพย์ใด หากตลาดหุ้นซบเซานานเป็นปีๆ

หากตลาดหุ้นขาลง คุณควรปรับพอร์ตด้วยการป้องกันความเสี่ยง เพราะ“ในวิกฤติย่อมมีโอกาส” ช่วงที่ตลาดหุ้นตก คุณอาจปรับพอร์ตด้วยกลยุทธ์เรียกว่า Portfolio Hedge เพื่อป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต ซึ่งในบ้านเรานิยมใช้กลยุทธ์นี้กันอย่างแพร่หลายในตลาดอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น SET50 Futures, Single Stock Futures หรือการลงทุนผ่าน ETFs

หากคุณใช้กลยุทธ์นี้ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำจะสามารถชดเชยการขาดทุน หรืออาจทำให้พอร์ตคุณไม่ขาดทุนเลยก็ได้ แต่อันตรายจะเกิดขึ้นทันที หากคุณไม่มีความเข้าใจ หรือวางกลยุทธ์ลงทุนแบบผิดๆ ถูกๆ

แล้วถ้าตลาดหุ้นขาลงคุณยอมตัดขาดทุน ซึ่งการตัดขาดทุน หรือ Stop Loss นั้นคือการที่คุณยอมขายขาดทุนออกไปก่อน เพื่อป้องกันหรือลดผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้นและรอตลาดส่งสัญญาณที่ดี แล้วค่อยกลับเข้าไปซื้อหุ้นตัวนั้นๆ อีกครั้ง หรืออาจเป็นการเปลี่ยนหุ้นเพื่อแก้ไข (เอาคืน) ผลขาดทุนที่ผ่านมา

ทั้งนี้การตัดขาดทุนน่าจะเป็นคำตอบที่ดีในภาวะตลาดขาลง เพราะถ้าไม่ขายในวันนี้ คุณอาจไม่เหลืออะไรเลย แถมคุณยังต้องติดหุ้นยาวนานเป็นปีๆ เพื่อรอตลาดพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น สำหรับคุณที่คิดจะใช้วิธีนี้จะต้องมีวินัยในการลงทุนสูง

หากตลาดหุ้นขาลง แต่คุณเลือกสวนกระแส ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงมากๆ คนเล่นหุ้นส่วนใหญ่จะเกิดความกลัว จึงเริ่มขายหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีคุณ หรือผู้ลงทุนกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมซื้อหุ้นในช่วงที่ทุกคนพากันกลัว เพราะคุณจะได้ราคาถูก

และเมื่อบรรยากาศการลงทุนเริ่มแจ่มใส หุ้นเริ่มเตะตาบรรดาผู้ลงทุนก็จะเป็นเวลาที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น ทำให้คุณและผู้ลงทุนที่เล่นหุ้นสวนกระแสก็จะมีโอกาสทำกำไรจากการลงทุนได้มากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนแบบนี้เรียกกันว่า กลยุทธ์การลงทุนแบบสวนกระแส หรือ Contrarian Investment

แต่ถ้าคุณใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบสวนกระแส คุณต้องมีวินัยและเข้าใจพื้นฐานของบริษัทนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เพื่อจะได้มั่นใจว่าบริษัทนั้นมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีจริงๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณได้หุ้นที่ดีและราคาดีด้วยแต่กลยุทธ์นี้อาจอันตราย สำหรับคุณที่มีประสบการณ์น้อย ความอดทนน้อยและจิตใจไม่นิ่งพอ

 
 
 
 
 
 
ดังนั้นสิ่งที่มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากฝากข้อคิดไว้ว่า การตัดสินใจเข้าหรือออกจากตลาดหุ้นในภาวะตลาดหมี ขอให้คุณตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของคำว่า Fundamental เป็นสำคัญ โดยคุณไม่ควรปล่อยให้อารมณ์ และความกลัวเข้ามาครอบงำความคิด

และหากเป็นไปได้ คุณอาจซื้อหุ้นบางกลุ่ม ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มที่ดี แทนที่จะคิดหาวิธีเอาตัวรอดออกจากตลาดหุ้นในช่วงซบเซา เพราะยุทธวิธีนี้ อาจเป็น “จุดพักรบ” หรือ“จุดเริ่มต้น” ทำกำไรก็ได้ เพียงแค่คุณต้องหาให้เจอ
 

LastUpdate 05/08/2562 19:46:39 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 5:43 am