หลายต่อหลายคนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คงปฎิเสธไม่ได้ว่า ก่อนลงทุนเก่ง หรือเก่งขั้นเทพ ส่วนใหญ่จะต้องเคยผ่านบทเรียนที่สร้างความเจ็บปวดอย่างหนักหน่วง หรือเลยเถิดทำให้ครอบครัวแตกแยก หรือเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เหตุการณ์นั้นก็คือ ลงทุนหุ้นจนเพลินเมื่อรู้ตัว ก็เลยเถิดไปสอยราคาหุ้นที่ระดับยอดดอยเสียแล้ว อาจเป็นเพราะคุณเข้าซื้อผิดจังหวะ หรือเข้าซื้อขายหุ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม นั่นเอง
ดังนั้นในวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพามาทำความรู้จักกับ “กราฟราคาหุ้น” เพื่อจะเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถจับจังหวะซื้อขาย หรือกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
เริ่มจากคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กราฟที่เห็นเป็นการนำราคาหุ้นในแต่ละวันมาเรียงต่อกัน ซึ่งกราฟราคาหุ้นที่คุณพบเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ “กราฟแท่งเทียน”
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำวิธีการดูที่ง่ายแสนง่ายมาฝาก
หากวันไหน ราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด ตัวแท่งเทียนจะเป็นแท่งโปร่ง (บางโปรแกรมใช้แท่งสีเขียว) และหากวันไหนราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด ตัวแท่งเทียนก็จะเป็นแท่งทึบ (บางโปรแกรมใช้แท่งสีแดง)
ส่วนเส้นที่อยู่ตรงหัวและท้ายแท่ง เราเรียกว่า “ไส้เทียน” ซึ่งจะบอกถึงราคาสูงสุดและราคาต่ำสุดของวันนั้นๆ
รู้จักลักษณะของกราฟราคาหุ้นกันไปแล้ว ลองมาทำความเข้าใจการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในแต่ละวัน จะแตกต่างกันออกไป บางช่วงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บางช่วงลงต่อเนื่อง หรือบางช่วงเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบๆ ทำให้คุณเห็นเป็นแนวโน้มต่างๆ ซึ่งแนวโน้มแบ่งออกเป็น 3 แบบ
แนวโน้มขึ้น (Uptrend)
ทิศทางการเคลื่อนที่ของราคาจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบอกว่า ราคาหุ้นกำลังขึ้น
การลากเส้นแนวโน้มขึ้น (Uptrend Line)
โดยเริ่มดูจาก “จุดต่ำสุด” ของช่วงเวลาที่สนใจ ลากเส้นจากจุดที่ 1 ไปยังจุดที่ 2 โดยให้ส่วนปลายเลยจุดที่ 2 ออกไป หากราคาปรับตัวถึงจุดที่ 3 เป็นสัญญาณยืนยัน “ขาขึ้น” ลากเส้นคู่ขนาน เพื่อดูทิศทางการวิ่งของราคา หากราคาปรับตัวลงมาใกล้ Uptrend Line อีกครั้ง จะเป็นจุดเข้า “ซื้อ” หุ้น (จุดที่ 4) และอาจ “ขาย” เมื่อราคาขึ้นไปถึงเส้นคู่ขนานอีกครั้ง แต่หากเชื่อว่าราคาจะขึ้นต่อก็ยังไม่ต้องขาย
แนวโน้มลง (Downtrend)
ทิศทางการเคลื่อนที่ของราคาจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณบอกว่า ราคาหุ้นกำลังลง
การลากเส้นแนวโน้มลง (Downtrend Line)
เริ่มดูจาก “จุดสูงสุด” ของช่วงเวลาที่สนใจ ลากเส้นจากจุดที่ 1 ไปยัง 2 โดยให้ส่วนปลายเลยจุดที่ 2 ออกไป ณ จุดที่ 3 หากราคาหุ้นไม่สามารถข้ามเส้น Downtrend Line ได้ จะเป็นสัญญาณยืนยัน “ขาลง” ลากเส้นคู่ขนาน เพื่อดูทิศทางการวิ่งของราคา หากราคาปรับตัวขึ้นมาใกล้ Downtrend Line อีกครั้ง จะเป็นจุดในการตัดสินใจ “ขาย” หุ้น (จุดที่ 4)
แนวโน้มเคลื่อนที่ไปข้างๆ (Sideways)
ทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาจะอยู่ในกรอบแคบๆ เป็นสัญญาณบอกว่า ราคาหุ้นไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก อาจเพราะไม่มีปัจจัยบวกหรือลบมาทำให้ทิศทางเปลี่ยน
กรณีที่เป็น Sideways ราคาค่อนข้างราบเรียบขนานไปกับพื้นราบ หากต้องการทำกำไรระยะสั้น อาจสั่ง “ซื้อ” ณ จุดที่ 6 และ “ขาย” เมื่อราคาไปแตะเส้นคู่ขนานด้านบน
การลากเส้นแนวโน้มและเส้นคู่ขนาน จะทำให้นักลงทุนเห็นกรอบการวิ่งของราคา พูดง่ายๆ ก็คือ เห็น “แนวรับ” และ “แนวต้าน” ของหุ้นในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปหากราคาหุ้นวิ่งทะลุผ่านแนวรับหรือแนวต้านนี้ไปได้ ราคาก็มักจะไปต่อในทิศทางนั้นอย่างมีนัยสำคัญ เส้นที่เคยเป็นแนวรับก็กลายเป็นแนวต้าน และเส้นเคยเป็นแนวต้านก็กลายเป็นแนวรับ
ในชีวิตการลงทุนจริง ยังมีเครื่องมือทางเทคนิคอีกมากมาย ดังนั้นคุณควรหมั่นศึกษา และฝึกใช้งานบ่อยๆ เพื่อจับจังหวะลงทุน และดูสัญญาณซื้อขายหุ้นได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น และโอกาสที่คุณจะเข้าลงทุนผิดจังหวะก็น้อยลงแล้ว
ข่าวเด่น