สำหรับคุณในฐานะหน้าใหม่ของวงการตลาดหุ้น หรือแม้แต่หน้าเก่ามือโปรที่เล่นหุ้น หลายครั้งที่พวกคุณมักมีคำถามยอดฮิต เวลาพวกคุณจะลงทุน นั่นก็คือ “ฉันควรซื้ออะไร” และ”ฉันควรซื้อที่ราคาเท่าไหร่”
ดังนั้น คุณจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า ตัวคุณควรจะซื้ออะไร แล้วจึงไปเดินหาของสิ่งนั้น และควรประเมินว่า ราคาเท่าไหร่ คุณจึงจะยอมลงทุนซื้อ
เอาง่ายๆ วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้คุณลองนึกถึงวิธีช้อปปิ้งของแม่บ้านญี่ปุ่นวินัยสูง เพราะเธอเหล่านี้ มักจะจดรายการของที่ต้องการซื้อไว้อย่างชัดเจนว่าจะซื้ออะไร ซึ่งช่วยให้คุณไม่ลืมสิ่งของที่ควรซื้อและไม่ต้องเผลอซื้อของที่คุณไม่อยากได้จริงๆ แต่ถูกกระตุ้นด้วยอารมณ์จากสารพัดโปรโมชั่น ขณะเดินจับจ่าย
หลักการนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าคุณสามารถนำมาใช้กับการลงทุนในหุ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อหุ้นทุกครั้ง คุณต้องถามตัวเองด้วยสองคำถามสำคัญทุกครั้ง
ซื้ออะไร?
นั่นก็คือ คุณจะซื้อหุ้นอะไรนั่นเอง เป็นการถามเพื่อเลือกหุ้นมาจำนวนหนึ่งเรียกว่า “Watch List” หรือ “รายชื่อหุ้นที่จับตามอง”
การจะได้มาซึ่งรายชื่อหุ้นใน Watch List คุณต้องทำการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis) เช่นเทรนด์ธุรกิจสนับสนุนหรือไม่ อยู่ในอุตสาหกรรมแข็งแกร่งหรือไม่ กิจการจะเติบโตได้อย่างไร แผนธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างไร ความสามารถในการสร้างผลตอบแทนในอนาคตเพิ่มขึ้นหรือไม่อย่างไร ด้วยอะไร
แนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการของบริษัทเป็นอย่างไร ความสามารถในการแข่งขันยั่งยืนหรือไม่ ทีมผู้บริหารมีฝีมือแค่ไหน
ซื้อที่ราคาเท่าไร?
นั่นก็คือ การถามเพื่อให้คุณได้วิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) ซึ่งดูจากงบการเงินทั้ง 3 ได้แก่ งบดุล งบกำไรขาดทุน และงบกระแสเงินสด รวมไปถึง อัตราส่วนการเงินต่างๆ เช่น อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) เป็นต้น และคำนวนหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น (Intrinsic Value) เพื่อเปรียบเทียบความถูกแพงของหุ้นก่อนเข้าซื้อ
ดังนั้น หากคุณ ถอดรหัสทั้งสองคำถามนี้ จะซื้ออะไร ซื้อที่ราคาเท่าไร ออกมา คุณก็จะได้โครงสร้างวิชาสายดูพื้นฐานหุ้น ซึ่งแนวคิดนี้ก็คือ5 Must Do
ถ้าคุณต้องการจะเป็นนักลงทุนแนวVI หรือลงทุนแนวเน้นคุณค่า ซึ่งนำมาใช้เลือกหุ้นได้ นั่นคือ
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์การลงทุนตามแนวโน้มใหญ่ (Mega Trend) โดยคุณควรเลือกหุ้นที่มีเทรนด์ธุรกิจสนับสนุน
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์อุตสาหกรรม (Industry Analysis)คุณสามารถเลือกหุ้นที่อยู่อุตสาหกรรมขาขึ้น
ขั้นที่ 3 วิเคราะห์บริษัทเชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)เลือกหุ้นที่มีปัจจัยเชิงคุณภาพดี
ขั้นที่ 4 คุณต้องวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) เลือกหุ้นที่มีงบการเงินแข็งแรง รายได้เพิ่ม กำไรเพิ่ม เงินสดหมุนเวียนดี
ขั้นที่ 5 คุณต้อง ประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) โดยคุณต้องวัดมูลค่าหุ้นก่อนเข้าซื้อ จงลงมือเมื่อหุ้นมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงเท่านั้น (Undervalue)
ก่อนคุณตัดสินใจลงทุน หากคุณได้ทำการวิเคราะห์ 5 ขั้นตอนแล้ว พอซื้อเสร็จราคากลับร่วงลงไป ก็ไม่ต้องตกใจในเมื่อหุ้นที่คุณลงทุนซื้ออยู่ในกระแสเทรนด์ใหญ่ อยู่ในอุตสาหกรรมที่ยอดเยี่ยม บริษัทมีอนาคตดี มีความสามารถในการแข่งขัน และมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมทั้งคุณไม่ได้ซื้อเพราะโลภ แต่ซื้อเพราะผ่านการวิเคราะห์และวัดมูลค่ามาแล้วเป็นอย่างดี
ถ้าคุณทำได้แบบนี้ คุณไม่ต้องกลัวเลย แถมถ้าราคามันลงมามากๆ อาจเป็นโอกาสดีของคุณในการลงทุนเพิ่มก็ได้
ส่วนทำอย่างไรนักลงทุนหน้าใหม่สามารถเพิ่มทักษะการวิเคราะห์และทำความเข้าใจบริษัทที่จะลงทุนได้คำตอบก็ไม่ยากจนเกินไป คุณก็ต้องหาข้อมูลและอ่านเยอะๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลทางธุรกิจ และสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เช่น อ่านหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนให้มากๆ รวมถึงอ่านหนังสือพิมพ์และนิตยสารด้านธุรกิจ ดูทีวีช่องข่าวธุรกิจ
โดยเฉพาะคุณต้องไม่พลาดเข้าเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th เป็นประจำ เพื่อหาข้อมูลความรู้ที่ดีและฟรีมากมายมหาศาล ทั้งข้อมูลพื้นฐานของกิจการคลิปความรู้ทางการเงิน บทความการลงทุนดีๆและข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ที่มีมาอัพเดทตลอดเวลา
การสร้างนิสัยที่ดีต่อการลงทุนเหล่านี้ จะเพิ่มวิสัยทัศน์ทางธุรกิจและโอกาสมั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่คุณ
ข่าวเด่น