วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอนำบทความของ “ฐิติเมธ โภคชัย”ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่นำความคิดเห็น และมุมมองของ “อาภาภรณ์ แสวงพรรค” ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เพื่อใช้เป็นข้อมูล หรือคำแนะนำ ซึ่งไม่ใช่เป็นคำชี้นำแต่อย่างใดมาเล่าสูกันฟัง
เพราะต้องยอมรับว่า บรรยากาศการลงทุนในช่วงนี้ ความเสี่ยงของตลาดเพิ่มสูงขึ้น (Market Risk) ผลจากปัจจัยความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน และความผันผวนของราคาหุ้น หลังจากช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา (19 ธ.ค.61) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 1.50% เป็น 1.75% ซึ่งช่วงนั้นก็ต้องทำการวางกลยุทธ์ลงทุนให้เหมาะสมกับยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
แต่เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา กนง.มีมติให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 1.75% เป็น 1.50% ขณะเดียวกันค่าเงินบาท ก็ยังแข็งค่าติดอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น คุณก็ต้องวางกลยุทธ์ลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์ดอกเบี้ยขาลงอีกครั้ง
ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นกับค่าเงินมีอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ส่วนที่หนึ่ง กำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยปกติเมื่อเงินบาทแข็งค่าจะส่งผลต่อผู้ส่งออก เพราะเมื่อนำรายได้สกุลเงินต่างประเทศมาแลกเงินบาท จะได้รับเงินบาทลดน้อยลง
ยกตัวอย่าง วันนี้เงินบาท 32 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าต้องใช้เงินบาท 34 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเงินบาท “อ่อนค่า” (ใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม)
ถ้าใช้เงินบาท 30 บาท แลกได้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แสดงว่าเงินบาท “แข็งค่า” (ใช้เงินบาทน้อยลงในการแลกเงินสกุลอื่นในจำนวนเท่าเดิม)
“ดังนั้น เมื่อมองเข้าไปในหุ้นกลุ่มส่งออกที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ที่มีมาร์เก็ตแคปรวมกัน10-15% ของมาร์เก็ตแคปโดยรวม ถือว่าอยู่ในระดับไม่สูง ดังนั้น ผลกระทบจากหุ้นกลุ่มส่งออกในช่วงเงินบาทแข็งค่าจึงมีผลต่อหุ้นไทยโดยรวมไม่สูงตามไปด้วย
แต่การที่เงินบาทแข็งค่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมมาก เพราะมูลค่าส่งออกในแต่ละปีคิดเป็น 60-70% ของจีดีพี ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดี ย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น” อาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บอกเล่าให้ฟัง
ส่วนที่สอง เงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) เมื่อเงินบาทแข็งค่า ย่อมเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุน (Fund Flow ไหลเข้ามา) เพราะมองว่าจะได้กำไร 2 ต่อ แต่ต้องมีเงื่อนไขว่าตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทต้องไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ หุ้นไทยต้องเป็นขาขึ้นและเงินบาทต้องแข็งค่า
“ถ้าทุกอย่างเอื้อประโยชน์ ผู้ลงทุนต่างชาติจะได้ทั้ง Capital Gain, เงินปันผล และส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน”
ดังนั้น Fund Flow ที่เข้ามารอบล่าสุดมีปริมาณไม่มาก และล่าสุดเงินลงทุนเริ่มไหลออกไปบ้างแล้ว แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นก็ตาม สาเหตุมาจากแบงก์ชาติ ออกมาตรการชะลอการแข็งค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ในกรอบแคบๆ
“และอีกปัจจัยที่ทำให้ Fund Flow ไหลออก คือ เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง เงินบาทก็คงไม่แข็งค่าไปมากกว่านี้ ต่างชาติเลยปิด Position เพื่อ Take Profit”
ดังนั้น อาภาภรณ์ แนะนำว่าเมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลง ผู้ลงทุนควรปรับพอร์ตลงทุนด้วยการเน้นลงทุนหุ้นปันผล (Dividend Stock) และกองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) เพราะมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ และราคาผันผวนต่ำ
“เมื่อดอกเบี้ยนโยบายปรับลง ย่อมส่งผลลบต่อดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากตราสารหนี้ ผู้ลงทุนจึงมองหาผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอ ซึ่งหุ้นที่จ่ายปันผลและ REITs สามารถตอบโจทย์ได้”
และในช่วงที่ความเสี่ยงของตลาดเพิ่มสูงขึ้น (Market Risk) จากความเสี่ยงด้านดอกเบี้ย ค่าเงิน และความผันผวนของราคาหุ้น ขอแนะนำให้ผู้ลงทุนใช้กลยุทธ์ “Play Safe, Stay Defensive” นั่นคือ เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน
นอกจากนี้ ควรลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นลง หากตลาดมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นก็ต้องลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง ส่วนหุ้นที่ยังคงอยู่ในพอร์ตต้องทบทวนด้วยการปรับพอร์ตไปเน้นหุ้น Defensive ที่ราคาปรับลดลงน้อยกว่าตลาด, หุ้น Low Beta และหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
“พูดง่ายๆ ลดการลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากดอกเบี้ยลดและเงินบาทแข็ง และเงินลงทุนที่เหลือให้นำเข้าไปพักไว้ที่กองทุนรวมตลาดเงิน พันธบัตรระยะยาว หรือเงินบางส่วนอาจลงทุนในทองคำ”
สำหรับข้อมูลเหล่านี้ ที่มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ นำมาเสนอในครั้งนี้นั้น เพื่อให้ใช้สำหรับเป็นข้อมูลเพื่อการศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ดังนั้นคุณควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ข่าวเด่น