เมื่อคนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งออกกำลังกาย เลือกกินอาหารที่มีคุณภาพกันมากขึ้น ทำให้คนไทย“มีอายุยืนขึ้น” เดี๋ยวนี้เฉลี่ยแล้วอาจมีอายุยืนยาวถึง 80 ปีเมื่อเป็นเช่นนี้ คุณก็ต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณยาวนานขึ้น แล้วถ้าคุณมีอายุยืนยาวมากกว่า 80 ปี 90 ปี หรือ 100 ปี คุณจึงต้องยิ่งเตรียมเงินไว้ใช้มากขึ้นไปอีก
งานนี้คุณฐิติเมธ โภคชัย ผู้บริหารงานฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บอกเล่าผ่าน มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯมาว่า มานั่งคำนวณกันดูคร่าวๆถ้าคุณคิดว่า คุณต้องการใช้เงินวันละ 500 บาท (15,000 บาทต่อเดือน) ควรมีเงินอย่างน้อย 4,060,701 บาท (ถอนทุกต้นปี โดยคำนวณผลตอบแทนแบบทบต้นต่อปีและปรับด้วยผลตอบแทนขั้นต่ำ 1.73% รวมอัตราเงินเฟ้อ 3% แล้ว) เพื่อใช้หลังเกษียณไปอีก 20 ปี
แต่สำหรับในยุคที่เงินฝากได้ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยแบบทุกวันนี้ แถมเงินเฟ้อยังกัดกินมูลค่าเงินให้ลดลงเรื่อยๆคุณก็ยิ่งจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้ใช้ให้มากขึ้นกว่า 4 ล้านบาท
แต่เท่าไหร่ถึงจะเพียงพอหละ?เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ
ถ้าคุณมีการเตรียมตัวมาดีมีเงินเก็บเพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังวัยเกษียณ อันนี้คงไม่มีปัญหาแต่มีบางคนที่เก็บเงินได้บ้างแต่ไม่มากนัก งานนี้คงต้องหาทางออก เช่น ก่อนเกษียณต้องเก็บเงินในแต่ละงวดให้มากขึ้น สร้างรายได้จากอาชีพเสริม ลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
หากทำทุกหนทางแล้วก็ยังรู้สึกว่าเงินที่จะเตรียมใช้หลังเกษียณคงหมดลงภายในไม่กี่ปี เมื่อเป็นเช่นนี้ลองหาทางออก ด้วยการสำรวจดูว่าจังหวัดไหนที่มีค่าครองชีพที่สอดคล้องกับเงินเก็บที่มี เพราะว่าแต่ละพื้นที่ในเมืองไทย จะมีระดับค่าครองชีพต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่ปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดพื้นที่ ความเจริญรุ่งเรือง ขนาดเศรษฐกิจ เป็นต้น
ล่าสุด สํานักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทําการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2561 เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ค่าใช้จ่าย ลักษณะที่อยู่อาศัย ตลอดจนการได้รับสวัสดิการ ความช่วยเหลือจากรัฐและใช้บริการของภาครัฐ
โดยทําการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกเดือน (ม.ค.-ธ.ค.61)จากครัวเรือนตัวอย่างในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทั้งในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล 52,000 ครัวเรือน โดยค่าใช้จ่ายจะเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จําเป็นต้องใช้ในการยังชีพ นั่นคือใช้จ่ายกับปัจจัย 4 รวมถึงการศึกษาและเพื่อความบันเทิงอีกเล็กน้อย
ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวต่อเดือน ปี 2561
ภาคสูงสุด (บาทต่อเดือน) ต่ำสุด (บาทต่อเดือน)
ปริมณฑล ปทุมธานี 43,301 บาท สมุทรปราการ 23,232 บาท
กลาง สระบุรี 27,581 บาท สุพรรณบุรี 14,245 บาท
เหนือ ลำพูน 18,604 บาท เชียงราย 11,213 บาท
อีสาน เลย 21,055 บาท กาฬสินธุ์ 11,858 บาท
ใต้ ภูเก็ต 30,993 บาท ยะลา 13,301 บาท
กรุงเทพฯ 34,127 บาทต่อเดือน
ที่มา : สํานักงานสถิติแห่งชาติ
จากตัวเลขดังกล่าวคุณสามารถนำมาวางแผนในเบื้องต้นว่า ถ้าอยากไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่จังหวัดนั้นๆ คุณต้องมีเงินเก็บมากน้อยแค่ไหน
คุณต้องเริ่มจากดูว่าจังหวัดนั้นมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนเท่าไหร่ แล้วดูว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกกี่ปี
เช่น ถ้าวางแผนเกษียณที่กรุงเทพฯซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 34,127 บาทต่อเดือน เกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุถึง 85 ปี (มีชีวิตอยู่อีก 25 ปี หรือ 300 เดือน หลังเกษียณ) คุณก็ต้องมีเงินเก็บ 10,238,100 บาท (34,127 บาท คูณ 300 เดือน)
ถ้าอยากไปอยู่เชียงราย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,213 บาทต่อเดือน แสดงว่าต้องมีเงินเก็บ 3,363,900 บาท (11,213 บาท คูณ 300 เดือน)
แต่ถ้าตัดสินใจไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่จังหวัดเลยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,055 บาทต่อเดือน ต้องมีเงินเก็บ 6,316,500 บาท (21,055 บาท คูณ 300 เดือน)
เมื่อเห็นตัวเลขนี้ บอกได้เลยว่าทุกคนรวมทั้งคุณก็สามารถเก็บเงินได้ตามเป้าหมายแน่นอน ยิ่งเริ่มต้นกันตั้งแต่เนิ่นๆ คิดจะไปเกษียณที่จังหวัดไหนก็ได้แบบสบายๆ
เช่น ตอนนี้อายุ 28 ปี คิดเกษียณอายุ 60 ปี คาดว่าจะมีชีวิตถึง 85 ปี วางแผนจะไปเกษียณที่เชียงราย (มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,213 บาทต่อเดือน) ก็เริ่มลงทุนทุกๆเดือน สมมติว่าถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6% ก็ลงทุนเฉลี่ยเดือนละ 3,084 บาท (37,011 บาทต่อปี) พอถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินเก็บ 3,363,900 บาท
ถ้าวางแผนเกษียณที่จังหวัดเลย (ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 21,055 บาทต่อเดือน) เริ่มลงทุนทุกๆเดือน สมมติว่าถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6% ก็ต้องลงทุนเฉลี่ยเดือนละ 5,791 บาท (69,496 บาทต่อปี) แต่ถ้าได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% ก็ลงทุนเฉลี่ยเพียงเดือนละ 3,922 บาท (47,063 บาทต่อปี) พอถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินเก็บ 6,316,500 บาท
โดยความเป็นจริงพอถึงวันเกษียณทุกคนก็นำเงินเก็บไปลงทุนต่อ เพื่อให้ได้ผลตอบแทน เช่น นำเงิน 2,000,000 บาท ไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทน 3% ต่อปี พอถึงสิ้นปีจะมีเงินรวมดอกผล 2,060,000 บาท แม้คุณจะเกษียณไปแล้ว แต่ถ้านำเงินไปลงทุนให้เหมาะสม เงินก็จะยังคงงอกเงยได้อย่างต่อเนื่อง และในที่สุดก็จะมีเงินใช้จ่ายหลังวัยเกษียณแบบสบายๆ
อันนี้แค่เพียงทำให้คุณเห็นภาพหรือวิธีการคิดแบบง่ายๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยและเงินลงทุน เป็นการคำนวณเบื้องต้นไม่รวมอัตราเงินเฟ้อและวิธีการที่นำเสนอ เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้ต้องการชี้นำ และคุณเองก็ควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ดังนั้นถ้าหากคุณรู้วิธีการดังกล่าวแล้วคุณก็จำเป็นต้องมีการวางแผนการเงินของคุณแต่เนิ่น เพราะปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก แป๊บๆๆหมดเดือน แป็บๆหมดปี ถ้ายิ่งระร้าระรังในช่วงหลังเกษียณ อาจจะไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเหมือนคนที่เขาวางแผนการเงินมาเป็นอย่างดี เดี๋ยวจะหาว่ามิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯไม่เตือนนะจะบอกให้
ข่าวเด่น