สำหรับ“หนี้”คำนี้ไม่มีใครอยากทำความรู้จักและให้ความสนิทสนม โดยเฉพาะถ้ามีอายุเข้าสู่วัยที่ใกล้พักผ่อนเต็มที
ทั้งนี้“หนี้”คือการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ในปัจจุบันแล้วถ้าในอนาคตอันใกล้รายได้ลดหรือหยุดลงเนื่องจากเกษียณอายุ ชีวิตหลังจากนั้น“หนี้”คงเป็นปัญหาใหญ่แน่นอนเพราะใช้เงินในอนาคตหมดไปกับการก่อหนี้
ดังนั้นวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับคำแนะนำจาก คุณจิดาภา สีม่วง CFP® นักวางแผนการเงินสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ชวนมาสำรวจตัวเองกันว่า ถ้าจะเกษียณ“หนี้”อะไรที่ควรพกพาหรือไม่ควรมีหลังเกษียณ เพื่อไม่ต้องเป็นกังวลไปตลอดว่า “คิดจะพัก คิดถึงภาระ”
หนี้ระยะสั้นหมายถึงหนี้ที่มีอายุชำระคืนไม่เกิน 1 ปี
สำหรับบัตรเครดิตสามารถใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการต้องระวัง ถ้าใช้แล้วไม่สามารถชำระคืน 100%ของยอดที่ใช้ไปหรือเลือกชำระขั้นต่ำ10% เมื่อถึงกำหนดชำระคืน ดอกเบี้ยจะอยู่ในอัตราที่สูงมากถึง 19-22% คิดจากเงินต้นที่ใช้ไป สินค้าบางอย่างจัดโปรโมชั่นในการผ่อนชำระคืนเป็นรายงวดในอัตราดอกเบี้ย 0% เพื่อดึงดูดให้ตัดสินใจง่ายขึ้นในการซื้อสินค้า
ดังนั้นสติและวินัยทางการเงินที่ดีเท่านั้นที่จะช่วยไม่ให้เป็นหนี้ที่เกิดจากความต้องการ
สินเชื่อบุคคลวงเงินฉุกเฉินดอกเบี้ย 1-2% ต่อเดือน ไม่รวมค่าธรรมเนียมการเบิกเงินแล้วแต่วงเงินที่อนุมัติของธนาคารและการผ่อนชำระต่องวด สบายตอนใช้ หนักใจตอนคืน
จากสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบัน พบว่าหนี้สินระยะสั้นทำให้คนไทยเป็นหนี้เร็วตั้งแต่อายุน้อย ในกลุ่มตัวอย่างช่วงอายุ 29 ปีจะเป็นหนี้เสีย NPL ถึง1ใน5คน สัดส่วนของปริมาณหนี้ต่อคนเพิ่มขึ้นและแม้เข้าสู่วัยใกล้เกษียณ ยังต้องแบกภาระหนี้กันต่อไป ซึ่งหนี้ระยะสั้นนี้อาจเป็นหนี้ที่ดูแล้วเล็กน้อย แต่ภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงของการปล่อยกู้ทำให้ดอกเบี้ยสูงมาก ดังนั้นคนไทยจึงอยู่ในยุค“หนี้เร็ว หนี้เยอะ หนี้นาน”
หนี้ระยะยาวหมายถึง หนี้ที่มีอายุชำระคืนมากกว่า 1 ปี
หนี้บ้านเพื่ออยู่อาศัยส่วนใหญ่ภาระการผ่อนจะจบพร้อมอายุเกษียณคือ 60 ปี ขยายได้ถึง 65 ปี ซึ่งบ้านเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่งที่มูลค่าจะเพิ่มขึ้นตลอดตามความเจริญของทำเลที่ซื้อ
หนี้รถยนต์เพื่อความสะดวกในการเดินทาง ระยะเวลาในการผ่อนชำระส่วนใหญ่จบก่อนเกษียณอายุแต่ดอกเบี้ยไม่ลดตามเงินต้นที่ลดลงและมูลค่าของรถยนต์ลดลงเรื่อยๆ
หนี้ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวทำให้เกษียณอายุได้ช้าลงเพราะยังจำเป็นต้องหารายได้มาชำระหนี้ คงไม่มีใครอยากเกษียณแล้วส่งต่อหนี้สินให้เป็นมรดกลูกหลาน ต้องพยายาม“ปลดหนี้ให้หมด ก่อนปลดประจำการ”คือเป้าหมายสำคัญที่ต้องจัดการให้สำเร็จ
หนี้ห่วงรัก หนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่เกิดจากความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก แม้ว่าลูกจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ตราบที่ลูกยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต มีหน้าที่การงานที่มั่นคงมีครอบครัวที่อยู่ดี มีสุข หนี้ห่วงรักนี้ก็จะไม่มีทางหมดไปได้ ความกังวลและไม่สบายใจมีผลสืบเนื่องถึงสุขภาพ เมื่อมีอายุมากขึ้นด้วย “จิตปล่อยวาง” คือหนทางแห่งการปลดหนี้ประเภทนี้
เมื่อสำรวจแล้วว่ามีหนี้อะไรอยู่บ้าง เปรียบเทียบกับอายุที่เหลือในการหารายได้ก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ได้แล้วว่า หนี้อะไรที่ไม่ควรมีก่อนเกษียณ
ข่าวเด่น