ทิสโก้เวลธ์แนะลงทุนหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์หนึ่งในเมกะเทรนด์ที่โตเด่นไม่หวั่นแม้วิกฤตเศรษฐกิจ เปิดสถิติกำไรโตดี - ไม่ผันผวน ขณะที่ราคาหุ้นก็ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาด S&P500 ชี้อุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน ทำให้มีโอกาสโตอีกมาก
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า สำหรับการลงทุนในหุ้น ทิสโก้เวลธ์ยังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปกับกระแสหลักของโลก หรือ หุ้นกลุ่ม Megatrend เนื่องจากกำไรของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้มักจะไม่ผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้นในบรรดาหุ้นกลุ่ม Megatrend พบว่ามีหุ้นอยู่ 1 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถรอดพ้นจากการปรับตัวลดลงอย่างหนักของตลาดหุ้นได้ในทุกช่วงวิกฤต ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนก้าวผ่านความเสี่ยงและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพอร์ตการลงทุนในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว(Recession)ได้เป็นอย่างดี นั่นคือหุ้น Megatrend ในกลุ่มอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ (Healthcare)
“ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน นักลงทุนทั่วโลกต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2533, ช่วงวิกฤตฟองสบู่ดอตคอมของสหรัฐฯ (Dot Com Crisis) ในปีช่วง 2543 และช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis)ที่สหรัฐฯในปี 2551 โดยในช่วงปี 2543 และปี 2551 นั้น หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ในตลาดS&P500 ปรับตัวลดลงเพียง 2% และ 17% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 หุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าถึง 31% และ 23% เลยทีเดียว” นายณัฐกฤติกล่าว
ทิสโก้เวลธ์ยังพบว่าในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา (2533, 2544 และ 2551) กำไรต่อหุ้น (Earning Per Share) ของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 9%, 9% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนของบริษัทในดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงถึง 28%, 22% และ 36% ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่ากำไรของกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ไม่ผันผวนไปตามสภาวะเศรษฐกิจ
นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม Healthcare ก็เริ่มปรับตัวทางธุรกิจรับกับการเพิ่มขึ้นของอัตราประชากรที่เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตทั่วโลก โดยอ้างอิงจาก World Bank ตัวเลขจำนวนผู้เข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตพุ่งตัวสูงขึ้นจาก 2,485 ล้านคนในปี 2557 เป็น 4,388 ล้านคน ในปี 2562 ส่งผลให้บริษัท Healthcare เริ่มปรับตัวจากเดิมที่โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางของการรักษาพยาบาลมาเป็น “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” (Customer Centric) โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และนำมาผสมผสานกับ Life-style การใช้ชีวิตของคนมากขึ้น เช่น การให้บริการ Telemedicine โดยจะเชื่อมต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับผู้ป่วยโดยตรงผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งแพร่หลายในต่างประเทศเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ประเทศไทยก็เริ่มมีการให้บริการดังกล่าวแล้วเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่สามารถเห็นหน้าขณะคุยกัน หรือเป็นการใช้บริการผ่าน Application โดยผู้ป่วยจะ Live Video Call กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งส่งผลดีต่อคุณภาพการรักษาพยาบาล และเป็นการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการในกลุ่ม Healthcare เนื่องจากผู้ป่วยสามารถรับคำปรึกษาจากที่ไหนก็ได้ในโลกแบบ Real-time ช่วยลดค่าใช้จ่าย และเวลาในการเดินทางให้กับผู้ป่วย อีกทั้งช่วยให้แพทย์สามารถติดตามผล และดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในอนาคต
ข่าวเด่น