ค่าครองชีพทุกวันนี้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แค่คุณก้าวเท้าซ้ายหรือก้าวเท้าขวาออกจากบ้าน ก็ต้องควักเงินในกระเป๋าเพื่อจับจ่ายกันแล้ว และในยุคนี้คนส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น
คำถามที่มักตามมาก็คือถ้าเก็บเงินเดือนละ 10-15% เพื่อเตรียมไว้ใช้ตอนเกษียณจะเพียงพอหรือไม่ จึงทำให้หลายคนที่กังวลกับชีวิตหลังเกษียณ จึงเก็บเงินเพิ่มเป็นอย่างน้อยๆ20%ต่อเดือน หรือหันอออมเงินเพิ่มมากกว่าเดิม เพราะกลัวลำบากหรือไม่พอใช้ตอนเกษียณ เช่น คนมีเงินเดือน 15,000 บาท เก็บ 3,000 บาท คนมีเงินเดือน 20,000 บาท เก็บ 4,000 บาท คนมีเงินเดือน 30,000 บาท เก็บ 6,000 บาท และคนมีเงินเดือน 50,000 บาท เก็บ 10,000 บาท
แต่ก็ยังมีคำถามที่ตรงกันข้ามอีกเช่นกัน ซึ่งมีหลายคนตั้งคำถามว่า“ขนาดเก็บ 15% เลือดตายังแทบกระเด็นจะให้เพิ่มมากกว่านี้คงไม่ไหว”
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯยอมรับว่า ถ้าหากจะคิดว่ายากก็ดูเหมือนยากแต่ก็ยังมีทางออก เพราะวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯได้พูดคุยกับ คุณฐิติเมธ โภคชัย ผู้บริหารงานฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาร่วมหาแนวทางให้คุณ ลองมาดูกันว่าผู้ที่เก็บเงินได้อย่างน้อย 20% ในแต่ละเดือนและยังเหลือเงินใช้จ่ายกันสบายๆ เขาเหล่านั้นมีกลยุทธ์อย่างไร
เริ่มจากหลีกเลี่ยงเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง หลายคนมีบัตรเครดิต 4-5 ใบ พ่วงด้วยบัตรกดเงินสดอีกหลายใบและไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไรก็รูดด้วยบัตรเหล่านี้จนหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆและเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ก็จะจ่ายในอัตราขั้นต่ำ ถ้าเดือนไหนไม่มีเงินพอจ่ายหนี้ ก็จะใช้วิธีกดเงินสดจากบัตรใบแรก เพื่อจ่ายใบที่สอง ผลที่ตามมาคือเจอดอกเบี้ยจนอ่วม
โดยคุณต้องโดนชาร์จดอกเบี้ย 18% จากดอกเบี้ยบัตรเครดิต ถูกชาร์จ 28%จากดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด
ดังนั้นถ้าคุณอยากจะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนให้มากขึ้น คุณควรหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ หรือควรมีบัตรเครดิต 1-2 ใบ โดยใช้อย่างมีวินัยและชำระหนี้เต็มจำนวนเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
จากนั้นคุณต้องรู้เส้นทางการเงิน หลายคนไม่รู้ว่าเงินเดือนหมดไปกับอะไรบ้าง เพราะมักคิดแต่เรื่องใช้จ่าย หากเป็นแบบนี้ก็จะเก็บเงินไม่อยู่ ดังนั้นถ้าคุณอยากเก็บเงินให้ได้เยอะๆ ต้องเริ่มจากจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายประจำวัน จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลการเงิน เช่น สมุดบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการลงทุน การใช้จ่ายเงิน เพื่อทำให้รู้เส้นทางเงินของตัวเอง เช่น รายรับมาจากไหน เท่าไหร่ ซื้ออะไรไปบ้าง ซื้อวันไหน กี่บาท เมื่อบวกลบออกมาแล้วเป็นอย่างไร
วิธีการนี้จะทำให้รู้ว่ามีหลายอย่างที่ไม่ควรซื้อ บางคนถึงกับตกใจ “ซื้อไปได้อย่างไร” “ซื้อตอนไหน” ก็ทำให้เกิดอาการเสียดาย
นอกจากนี้คุณต้อง รู้จักลงทุน พอมีเงินเหลือมากขึ้น ต้องนำไปลงทุนเพื่อให้ออกดอกออกผล หากรับความเสี่ยงได้ต่ำ ก็ลงทุนกองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ รับความเสี่ยงได้สูงขึ้นอาจลงทุนกองทุนรวมผสม กองทุนรวมหุ้นและถ้ารับความเสี่ยงได้สูงมากขึ้นก็ลงทุนหุ้นโดยตรง แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ
อีกทั้งคุณต้องคิดถึงชีวิตวัยเกษียณเพราะเวลาถามคนที่เก็บเงินในแต่ละเดือนได้เยอะๆมักจะได้คำตอบว่า “เก็บไว้ใช้ตอนเกษียณ”ที่สำคัญส่วนใหญ่เริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่อายุไม่เยอะ เช่น 25 ปี ก็เริ่มเก็บเงินและนำไปลงทุน ขณะเดียวกันก็เก็บเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF ด้วย
ดังนั้นหากวางแผนการเงินและจัดพอร์ตลงทุนให้เหมาะสมก็จะมีเงินใช้เพียงพอตอนเกษียณ
สิ่งสำคัญสุดท้ายคุณต้องลดความอยาก เพราะผู้ที่มีเงินเก็บไม่ใช่คนขี้เหนียว แต่รู้จักคุณค่าเงิน คือ ซื้อในสิ่งที่ควรซื้อหรือก่อนซื้ออะไรก็ถามตัวเองว่า “ซื้อแล้วจะใช้หรือไม่” ถ้าคำตอบคือ “ไม่” ก็จะเลือกเก็บเงินเอาไว้ ดังนั้นผู้ที่รู้จักควบคุมความอยากได้ อยากมี จะมีเงินเหลือในแต่ละเดือนอย่างแน่นอน
ข่าวเด่น