นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า กองทุนประเภท Structure Fund ที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการขาดทุนเงินต้น ยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก โดยบริษัทฯ ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในการเสนอขายกองทุนคอมเพล็กซ์ รีเทิร์น ซึ่งจะนำเงินส่วนใหญ่ของกองทุนมาลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพและเงินฝากทั้งในและต่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดทุนของเงินต้น และส่วนที่เหลือจะลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนมากขึ้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้เสนอขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ คอมเพล็กซ์รีเทิร์น 1YC (SCB Complex Return 1YC: SCBCR1YC) อายุ 1 ปี ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งเดียวระหว่างวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2562 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 500,000 บาท ซึ่งกองทุนนี้สามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อ้างอิงกับดัชนี SET50
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ คอมเพล็กซ์รีเทิร์น 1YC มีกลยุทธ์การลงทุนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นําเงินต้นประมาณ 98% ของทรัพย์สินกองทุนไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ขึ้นไป เมื่อครบกําหนดอายุกองทุนจะได้รับเงินลงทุนคืนพร้อมผลตอบแทนซึ่งมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินต้น การลงทุนส่วนนี้มีความผันผวนต่ำช่วยลดความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นได้ โดยเบื้องต้นพอร์ตการลงทุนคาดว่าประกอบด้วยตราสารหนี้ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) - ไทย, บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)-ไทย), ตราสารหนี้ธนาคาร China Merchant Bank (CMB)-จีน, ตราสารหนี้ธนาคาร Agricultural Bank of China (ABC) –จีน, ตราสารหนี้ธนาคาร Bank of China (BOC) –จีน, ตราสารหนี้ธนาคาร Abu Dhabi Commercial Bank (ADCB) –สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ตราสารหนี้ธนาคาร Emirate NBD Bank (ENBD) –สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,ตราสารหนี้ธนาคาร Mashreq Bank (MASQ) –สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,ตราสารหนี้ธนาคาร Qatar National Bank (QNB) –กาตาร์,ตราสารหนี้ธนาคาร Al Khaliji Bank (ALK) – กาตาร์ ซึ่งกองทุนจะเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจํานวน
ส่วนที่ 2 ประมาณ 2% ของทรัพย์สินกองทุนจะลงทุนในสัญญาวอร์แรนต์ที่อิงกับผลตอบแทนของดัชนี SET50 ซึ่งสัญญาวอแรนต์ดังกล่าวมีลักษณะการจ่ายผลตอบแทนแบบ Shark fin ซึ่งเป็นส่วนสร้างผลตอบให้กับกองทุน โดยแบ่งการจ่ายผลตอบแทนเป็น 3 กรณี คือ 1) จ่ายผลตอบแทน 50% ของผลตอบแทนของดัชนี เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นระหว่าง 0 ถึง 12% 2) จ่ายผลตอบแทนชดเชยประมาณ 2.0% เมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นเกิน 12% ระหว่างอายุกองทุน และ 3) ไม่จ่ายผลตอบแทน หากราคาดัชนีปรับตัวลงต่ำกว่าราคา ณ วันลงทุน เมื่อครบกำหนดอายุกองทุน โดยดัชนี SET50 มีผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 7.02% ต่อปี (ข้อมูล SET ณ วันที่ 25 ก.ย. 2562)
“บลจ.ไทยพาณิชย์คาดว่าแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีความผันผวนอยู่ แม้ว่าล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FOMC) ได้มีการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% มาอยู่ที่ 1.75 - 2% ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ทิศทางนโยบายไม่ได้ส่งสัญญาณผ่อนคลายอย่างที่ตลาดคาดหวัง นอกจากนี้มีแนวโน้มที่ FOMC จะทำการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของการเติบโตของโลกที่ชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดีคาดว่า Fed น่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในไตรมาส 4 ซึ่งจะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อมูลค่า (Valuation) ของตลาดหุ้นไทยที่จะมีความน่าสนใจจากส่วนต่าง Earnings-Yield ปรับตัวกว้างมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นเรื่องสงครามการค้าโดยจะมีการประชุมกันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเดือนตุลาคมนี้ รวมถึงประเด็นแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ยังชะลอตัวโดยอาจจะถูกปรับลดประมาณการลง” นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ข่าวเด่น