เวลาฟังกูรูหรือฟังสัมมนาเกี่ยวกับการวางแผนการเงินก็มักจะได้รับองค์ความรู้วิธีเก็บเงินเก็บทองในรูปแบบต่างๆแต่มีบางครั้งที่คุณทำตามได้ไม่เต็มที่ ด้วยเหตุผลต่างๆนานา เช่น เป็นวิธีการตึงจนเกินไปหรือไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณเกิดความล้มเหลวในระหว่างทาง สุดท้ายก็ทำให้คุณเลิกเก็บออมเงินไปเลย แต่ถ้าหากคุณเจอสถานการณ์แบบนี้ ขอคุณอย่าพึ่งท้อแท้เพราะยังมีอีกหลายวิธีที่จะทำให้การวางแผนการเงินของคุณประสบความสำเร็จ จนมีเงินมีทองไว้ใช้จ่ายแบบไม่ขาดตกบกพร่องไปตลอดชีวิต
โดยวิธีเก็บเงินเก็บทองที่วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯได้รับคำแนะนำจาก คุณฐิติเมธ โภคชัย ผู้บริหารงาน ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อที่จะนำเสนอคุณในวันนี้ เพราะแนวไอเดียนอกจากจะมีความสนุกสนานจนอาจทำให้คุณต้องถึงกับอุทานออกมาว่า “ทำไปได้”และยังมีความท้าทายติดปลายนวมอีกด้วย
ดังนั้นเมื่อการวางแผนการเงินของคุณมีความชิล จะทำให้คุณไม่รู้สึกถึงความอึดอัด ลำบากยากเข็ญหรือทำแบบขอไปที เลยกลายเป็นว่า ได้ผลชนิดที่คุณแทบไม่รู้สึกเลยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ที่สำคัญไม่รู้ตัวว่าคุณกำลังมี “วินัย” กับเรื่องเงินๆทองๆ
30 วัน 627 บาท
อันนี้ต้องขอบอกว่ามีความเหมาะกับมือใหม่หัดออมเงิน เงินเดือนยังไม่มากหรือยังมีภาระค่าใช้จ่ายสูง วิธีการคือ ในแต่ละเดือนให้ออมเงินลดลงวันละบาท เช่น วันที่ 1 ออม 30 บาท วันที่ 2 ออม 29 บาท วันที่ 3 ออม 28 บาท วันที่ 4 ออม 27 บาท แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนวันที่ 30 ออม 1 บาท เหตุผลที่ให้ทำแบบนี้ เพราะว่าช่วงต้นเดือนยังมีเงินเหลือในบัญชี จึงมีกำลังและเต็มใจแบ่งมาเก็บออมและถ้าทำแบบนี้ในแต่ละเดือนจะมีเงินเก็บ 627 บาท ปีละ 7,524 บาท ถึงแม้จะดูไม่มากแต่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
7 วัน 140 บาท
สำหรับแนวนี้เหมาะกับมือใหม่หัดออมเช่นเดียวกันและเบี้ยน้อยหอยน้อย วิธีการแสนง่ายดายด้วยการเก็บเงินเป็นรายสัปดาห์ เริ่มจากวันอาทิตย์เก็บ 5 บาท จันทร์เก็บ 10 บาท อังคารเก็บ 15 บาท พุธเก็บ 20 บาท พฤหัสบดีเก็บ 25 บาท ศุกร์เก็บ 30 บาท และเสาร์เก็บ 35 บาท (มีเงินเก็บทั้งสิ้น 140 บาท) พอขึ้นสัปดาห์ใหม่ก็เก็บเงินแบบเดิม สัปดาห์ถัดไปก็ทำแบบเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถึงแม้แต่ละเดือนจะมีเงินเก็บไม่กี่ร้อยบาท แต่สิ่งที่ได้และสำคัญต่อแผนการใหญ่ด้านการวางแผนการเงินในอนาคตก็คือระเบียบวินัย
12 เดือน 45,000 บาท
วิธีนี้เหมาะกับใครที่ต้องการท้าทายตัวเอง วิธีการคือออมเงินทุกเดือนแล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น มกราคมเก็บ 1,000 บาท กุมภาพันธ์เก็บ 1,500 บาท มีนาคมเก็บ 2,000 บาท เมษายนเก็บ 2,500 บาท นั่นคือเก็บเงินเพิ่มเดือนละ 500 บาท จนถึงธันวาคมที่เก็บ 6,500 บาท ซึ่งหากทำแบบนี้ภายใน 1 ปีจะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 45,000 บาท และในปีถัดไปเจ้านายใจดีเพิ่มเงินเดือนให้ ก็อาจจะเริ่มต้นเก็บเงินเดือนมกราคมเป็น 1,500 บาท กุมภาพันธ์เก็บ 2,000 บาท (เก็บเงินเพิ่มเดือนละ 500 บาท) จนถึงธันวาคมที่เก็บ 7,000 บาท หากทำแบบนี้ ในปีนั้นจะมีเงินเก็บทั้งสิ้น 51,000 บาท
แค่สองปีก็มีเงินเก็บ 96,000 บาท ทำให้หัวใจพองโตและอยากจะเก็บเงินต่อไปเรื่อยๆ และปีที่สามเริ่มต้นที่ 2,000 บาท และปีถัดๆไปก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพียงแค่เพิ่มจำนวนเงิน ถ้าทำได้ 10 ปีต่อเนื่อง ไม่อยากคิดเลยว่าจะมีเงินเก็บมากแค่ไหน และยิ่งรู้จักนำไปลงทุนสร้างผลตอบแทนให้ได้สม่ำเสมอ เงินจะยิ่งงอกเงยขึ้นเรื่อยๆ
6 เดือน 10,300 บาท
สำหรับวิธีนี้ เป็นความสนุกสนาน แถมเกิดการเรียนรู้เรื่องเป้าหมายด้วย วิธีการคือ มกราคมเก็บ 1,000 บาท กุมภาพันธ์เก็บ 2,000 บาท พอถึงเดือนมีนาคมต้องเก็บเงินให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเดือนมกราคม สมมติว่าเก็บ 1,200 บาทถึงเดือนเมษายนยิ่งสนุกและท้าทาย เพราะต้องเก็บให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ สมมติว่าเก็บ 2,300 บาท มาถึงเดือนพฤษภาคมก็ต้องเก็บให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเดือนมีนาคม สมมติเก็บ 1,300 บาท และเดือนมิถุนายนต้องเก็บให้ได้เท่ากับหรือมากกว่าเดือนเมษายน สมมติเก็บ 2,500 บาท ถ้าทำได้แค่ครึ่งปีแรกจะมีเงินเก็บ 10,300 บาท เช่นเดียวกันพอครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม-ธันวาคม) ก็ใช้วิธีเดิม สรุปแล้วปีนั้นมีเงินเก็บทั้งสิ้น 20,600 บาท และจะเพิ่มความสนุกสนานมากขึ้นกับวิธีนี้แนะนำให้ทำเป็นตารางในสมุด
ง่ายจริงๆใช่ไหม แค่คิดก็สนุกแต่ถ้ายิ่งได้ลงมือทำทั้งได้รับความสุขกับการเก็บเงินแล้ว คุณยังรับทรัพย์กระเป๋าตุงอย่างไม่คาดคิด แถมสะดุ้งแบบไม่รู้ตัว เพราะคุณต้องตะโกนเสียงหลงว่า ง่ายๆแบบนี้ก็เป็นเศรษฐีน้อยกับเขาได้เหมือนกัน นะจะบอกให้
ข่าวเด่น