หุ้นทอง
เมื่อผิดเงื่อนไขลงทุน "LTF-RMF"มือใหม่หัดลงทุนกองทุนต้องทำอย่างไร


ใกล้เทศกาลลงทุนกองทุนแล้วบางคนอาจเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาลงทุน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ย่อมอาจเกิดความผิดพลาดได้ และหากเกิดผิดเงื่อนไขการลงทุน LTF และ RMF แล้ว คุณต้องทำอย่างไร


 
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอแนะนำให้คุณรู้ก่อนว่า จุดเด่นของ LTFและRMFก็คือ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจูงใจ เพียงแต่คุณต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กองทุนแต่ละประเภทกำหนด จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ส่วนเงื่อนไขการลงทุนของ LTF คือคุณสามารถนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี โดยคุณต้องถือครองไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน โดยไม่มีเงื่อนไขบังคับให้คุณต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้นและสามารถนับเงินแต่ละก้อนที่ลงทุนแยกกันได้

ขณะที่เงื่อนไขการลงทุนในRMFจะมีความซับซ้อนกว่า LTF คือยอดเงินลงทุนที่จะนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและต้องไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี โดยคุณต้องนับรวมกับเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)และประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

ลงทุนใน RMF ต่อเนื่องทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนมากกว่า 1 ปี ติดต่อกัน (ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินได้ ก็ไม่ต้องลงทุน)

ผู้ลงทุนจะต้องลงทุนและถือครองหน่วยลงทุน RMF จนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และจะต้องมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก (การนับ 5 ปี ให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF ปีใดไม่ลงทุนจะไม่นับว่ามีอายุการลงทุนในปีนั้น)

เงินลงทุนขั้นต่ำจะต้องไม่น้อยกว่า 5,000 บาท หรือ 3% ของเงินได้พึงประเมินในแต่ละปี (แล้วแต่ว่าจำนวนไหนจะต่ำกว่า)

นอกจากนี้หากผู้ลงทุนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว ผู้ลงทุนจะยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) อีกด้วย

และในวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯยังได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจาก คุณภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™ Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการทำผิดเงื่อนไขลงทุน LTF-RMF ด้วยว่าการลงทุนในกองทุนแฝดมีข้อดีหลายเรื่องแต่ก็มีข้อควรระวัง คือ การทำผิดเงื่อนไข โดยสามารถแบ่งได้หลายกรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 ซื้อเกินสิทธิดังนั้นคุณจะต้องนำ Capital Gain ที่ได้รับจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF และ RMF (นับเฉพาะส่วนที่ลงทุนเกิน) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กรณีที่ 2 ขายคืน LTF ก่อนครบกำหนด 7 ปีปฏิทิน (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน) คุณจะต้องคืนภาษีที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด พร้อมจ่ายเงินคืนเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่คุณขอยกเว้นภาษีจนถึงเดือนที่คุณทราบว่าคุณได้ทำผิดเงื่อนไขการลงทุน นอกจากนี้คุณต้องนำ Capital Gain ที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้อีกด้วย

กรณีที่ 3 ผิดเงื่อนไข RMF ซึ่งอาจเกิดจากการลงทุนขั้นต่ำ ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด, ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกิน 1 ปี, ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์หรือลงทุนไม่ครบ 5 ปีเต็ม (ยกเว้นกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จะถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขการลงทุน) ข้อปฏิบัติที่ทำผิดเงื่อนไข สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
1.กรณีลงทุนไม่ถึง 5 ปี และผิดเงื่อนไข คือ คุณต้องคืนภาษีทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้น โดย Capital Gain จากการขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี (ในกรณีนี้ทาง บลจ. จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเบื้องต้นไว้ก่อน 3% ของ Capital Gain)
และ 2. กรณีลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และผิดเงื่อนไข คือ คุณต้องคืนภาษีที่ได้รับยกเว้น 5 ปีย้อนหลัง โดย Capital Gain จากการขายคืนหน่วยลงทุน ไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษี

นอกจากนี้หากคุณทำผิดเงื่อนไขจ่ายคืนภาษีล่าช้า คุณต้องจ่ายคืนเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน โดยคิดตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ถัดจากปีที่ขายผิดเงื่อนไขการลงทุนนั้นด้วย

จะเห็นได้ว่าผลเสียที่เกิดขึ้นจากการขาย LTF และ RMFก่อนกำหนดหรือการทำผิดเงื่อนไขจะมีด้วยกันหลายประการ ดังนั้นคุณต้องศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขต่างๆในการลงทุนกองทุนรวม LTF และ RMF ให้เข้าใจและที่สำคัญ คุณควรวางแผนการจัดสรรเงินลงทุน (Asset Allocation) อย่างรอบคอบ เลือกลงทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาว

ดังนั้นอยากให้คุณมอง LTF และ RMF เป็นแหล่งเงินออมเพื่อการเกษียณ โดยคุณควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างวินัยในการลงทุนและควรถือหน่วยลงทุนในระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำผิดเงื่อนไขในระหว่างที่ลงทุนและช่วยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากกองทุนทั้งสองประเภทด้วย นะจะบอกให้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2562 เวลา : 17:43:56
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 2:51 pm