หุ้นทอง
รับมือ"ภัยธรรมชาติ"อย่างไร ไม่ให้คุณบาดเจ็บ"ออมเงินฉุกเฉิน-ซื้อประกัน"รับเสี่ยงแทน


ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นเริ่มทวีความรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ประเทศไทยและประชาชนเป็นอย่างมาก ล่าสุด น้ำท่วมหนักที่ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้มักเกิดขึ้นแบบฉับพลัน จนคุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และมักทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ให้คุณต้องฟื้นฟูหลังน้ำลด พร้อมกับภาระก้อนโต


วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณปิยาภรณ์ ครองจันทร์ขอแนะนำหลังจากคุณเผชิญปัญหาดังกล่าวแล้วและต้องผ่านพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ไปให้ได้คุณต้องมี 2 ส. ที่ควรตระหนัก คือ “ส.สติ” นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และอีก ส. หนึ่งคือ “ส.สตางค์”
 

 
 
ดังนั้นมาดู “3 ขั้นตอน ปฐมพยาบาล ทางการเงินหลังภัยน้ำท่วม”ดังนี้
1.ประเมินความเสียหายของทรัพย์สิน สำรวจความเสียหายและประมาณการค่าใช้จ่าย เริ่มต้นสำรวจทรัพย์สินที่ถูกน้ำท่วมว่ามีสิ่งใดที่เสียหายต้องซ่อมแซมหรือซื้อใหม่มาทดแทน และประเมินความเสียหายและค่าใช้จ่าย ตรวจสอบการทำประกันภัยบ้านและรถยนต์ ว่าได้ทำไว้หรือไม่ ถ้าทำไว้ครอบคลุมความเสียหายจากน้ำท่วมมั้ย เพื่อจะได้รู้ว่าคุณต้องจ่ายเงินเพื่อจัดการความเสียหายทั้งหมดเองหรือมีบริษัทประกันรับผิดชอบแทนคุณ
ทั้งนี้การจะได้รับความคุ้มครองจากน้ำท่วมบ้านนั้น “ประกันอัคคีภัยบ้าน” ซึ่งเป็นประกันภัยหลักที่ทำไว้ต้องจ่ายเบี้ยประกันเพิ่มเติมเพื่อครอบคลุม “ภัยน้ำท่วม”

สำหรับ"รถยนต์"จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วม เฉพาะประกันชั้น 1” ไม่ว่าจะเป็นประกันชั้น 1 ปกติ หรือ ประกันชั้น 1 แบบประหยัด ที่มีค่ารับผิดส่วนแรก ส่วนประกันประเภทอื่นๆจะไม่ได้รับความคุ้มครอง

"บ้าน"การสำรวจและประเมินค่าใช้จ่าย เช่น บ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ถูกน้ำท่วมไม่เกิน 100 ตารางเมตร น้ำท่วมสูงไม่เกิน 70 เซนติเมตรและโครงสร้างบ้านไม่ได้เกิดความเสียหาย ค่าใช้จ่ายการซ่อมแซมบ้าน 5,000-50,000 บาท และหากเลือกใช้บริการทำความสะอาดบ้านจากมืออาชีพมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 6,000-10,000 บาท

รถยนต์การสำรวจและประเมินค่าใช้จ่าย เช่น หากน้ำท่วมไม่มากแค่ถึงระดับพรมหรือเบาะนั่ง ค่าซ่อมจะอยู่ที่ประมาณหลักพันถึงหลักหมื่น แต่ถ้าน้ำท่วมถึงส่วนล่าง หรือต่ำกว่าแผงหน้าปัด โดยไม่ได้ถอดขั้วแบตเตอรี่หรือถอดกล่องอีซียูที่ควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญและมีราคาสูงก็จะทำให้ค่าซ่อมขยับขึ้นไปสูงถึงหลักแสนบาท

 
 
 
จัดกลุ่มค่าใช้จ่ายเพื่อเรียงลำดับความสำคัญ เพื่อจะได้จัดสรรเงินที่มีอยู่ให้เหมาะสมเพราะหากเงินของคุณมีจำกัดจะได้ตัดรายการที่ไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วนออกไปก่อน โดยแบ่งค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. รายการที่จำเป็นและเร่งด่วน เพื่อให้บ้านของคุณกลับมาอยู่อาศัยได้เหมือนเดิมอย่างปลอดภัย ได้แก่ การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลด การซ่อมแซมฐานราก โครงสร้างและตัวบ้าน การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าและประปาให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน
2. รายการที่จำเป็นแต่ไม่เร่งด่วน คือสิ่งช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันต่างๆ เช่น การซ่อมแซม ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ การซ่อมรถยนต์ การปลูกและฟื้นฟูต้นไม้และสวนบริเวณบ้าน รวมถึงการปรับปรุงบ้านเพื่อป้องกันน้ำท่วม
3. รายการที่ไม่จำเป็นและไม่เร่งด่วน จัดเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันและควรจัดสรรเงินไปใช้จัดการกับสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันก่อน เช่น ของตกแต่งบ้าน

2. รักษาอาการด้วย “เงิน เงิน เงิน” ตรวจสอบสถานะการเงิน เช็คความพร้อมของคุณ เมื่อรู้จำนวนเงินที่ต้องใช้แล้ว มาดูว่าสถานะการเงินของคุณ พร้อมขนาดไหนที่จะจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
ถ้าคุณ มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไม่น้อยกว่า 6 เดือนและมีเงินออมเก็บไว้ในทางเลือกการลงทุนอื่นๆ เช่น กองทุนรวม หุ้น หรือ ทองคำ คุณก็สามารถจัดการกับความเสียหายได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอกเลยหรือหากคุณ มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเก็บเอาไว้บ้างสัก 1-2 เดือน และยังพอจะมีเงินเหลือเก็บที่นำไปลงทุนไว้ในกองทุนรวม หรือ หุ้น อยู่บ้าง ก็คงโล่งใจไปได้ แต่ถ้าเสียหายมากอาจต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากภายนอกอีกบางส่วนถ้าคุณไม่มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเลย แถมเงินฝากธนาคาร กองทุนรวม หรือ หุ้น ก็ไม่มีคุณก็ต้องมองหาแหล่งเงินจากภายนอกมาช่วยเยียวยาความเสียหายแทนคุณ
 

 
รักษาอาการด้วย แหล่งเงินของ “คุณเอง-กู้ภายนอก”
เงินที่นำมาใช้จัดการกับความเสียหาย ควรมาจากเงินออมของคุณและเงินชดเชยต่างๆที่คุณได้รับมากกว่าที่จะกู้จากแหล่งเงินภายนอก โดย เงินออม มีไว้ไม่มีเดือดร้อน หรือออมไว้เพื่อเป้าหมายต่างๆ แต่การนำเงินที่เก็บออมเพื่อเป้าหมายอื่นมาใช้ก็จะทำให้คุณต้องลดขนาดเป้าหมาย หรือเลื่อนเวลาบรรลุเป้าหมายนั้นออกไป
หากเงินสดหรือเงินในบัญชีเงินฝากที่มีอยู่ไม่เพียงพอ คุณยังสามารถเปลี่ยนเงินออมที่นำไปลงทุนไว้ในทางเลือกต่างๆ กลับมาเป็นเงินสด เช่น หุ้น หน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือทรัพย์สินมีค่า เช่น ทองคำ และเครื่องประดับ

หากไม่มีเงินออมอยู่เลย หรือมีไม่เพียงพอ แหล่งเงินกู้จากภายนอกจะเป็น “คุณหมอ” ที่มาช่วยรักษาอาการของคุณ ส่วนแหล่งเงินกู้ใดบ้างที่จะช่วยคุณได้ในยามเดือดร้อนแบบนี้ เช่น การกู้ธนาคารของรัฐ เป็นต้น แต่ควรเลือกกู้ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ โดยปกติภาระในการผ่อนชำระไม่ควรเกิน 35-45% ของรายได้รวมต่อเดือน

3.ป้องกันการบาดเจ็บทางการเงินในอนาคต
เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน โดยปกติแล้วที่เหมาะสมอยู่ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งคุณควรเก็บออมเงินก้อนนี้ไว้ในทางเลือกที่ไม่มีความเสี่ยงหรือมีความเสี่ยงน้อยมาก และมีสภาพคล่องสูงเบิกถอนได้ทันทีเมื่อต้องการใช้เงิน ซึ่งมักเก็บเงินก้อนนี้ไว้ในบัญชีออมทรัพย์ หรือกองทุนตลาดเงินที่เบิกถอนและรับเงินได้ในวันทำการถัดไป

การเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ คุณต้องพิจารณาจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในครั้งนี้ว่า เมื่อเทียบกับเงินสำรองยามฉุกเฉิน 3-6 เท่าแล้วนั้น “น้อยเกินไปหรือไม่” หากไม่เพียงพอควรเก็บ “เงินสำรองเพิ่มเติม” ไว้อีกก้อนหนึ่ง แต่ภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นกันบ่อยๆคุณอาจเลือกออมเงินก้อนนี้ไว้ในทางเลือกที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นอีกนิด แต่มีสภาพคล่องที่สูงอยู่ เพื่อให้เงินก้อนนี้สร้างผลตอบแทนให้เงินออมของคุณได้สูงขึ้น

ประกันภัยบ้านและรถยนต์
โดยคุณควรทำประกันภัยบ้านและรถยนต์ ซึ่งค่าเบี้ยประกันภัยอัคคีภัยบ้าน ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับประกันภัยประเภทอื่นและได้รับความคุ้มครองที่ครอบคลุมทั้งสิ่งปลูกสร้าง (ไม่รวมรากฐาน) และทรัพย์สินภายในสิ่งปลูกสร้าง และยังมี “ประกันภัยอัคคีภัยบ้านแบบประหยัด” ที่ซื้อประกันคุ้มครองภัยธรรมชาติเพิ่มเติม โดยจ่ายเบี้ยรวมแล้วไม่ถึง 1,000 บาท เพื่อทำประกันภัยรถยนต์ “กรมธรรม์ประเภท 1 หรือ ประกันชั้น 1” จะได้รับความคุ้มครองความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งกรณีที่เสียหาย แต่ไม่ถึงเสียหายสิ้นเชิง และเสียหายสิ้นเชิง จนไม่อาจซ่อมให้อยู่สภาพเดิมได้

ถ้าคุณไม่ได้ทำประกันภัยบ้านหรือรถยนต์เอาไว้ หรือประกันที่ทำอยู่ไม่ครอบคลุมถึงภัยน้ำท่วม ถึงเวลาที่ต้องมาชั่งน้ำหนักเเทียบดูว่า จะเลือกรับความเสี่ยงภัยไว้เอง หรือโอนความเสี่ยงภัยไปให้กับบริษัทประกันรับแทนคุณ แบบไหนคุ้มค่ากว่ากัน หากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอีกในอนาคต
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ย. 2562 เวลา : 21:52:28
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 4:47 pm