โค้งสุดท้ายของปี 2562 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงกว่า 1 เดือน เดือนที่เหลือในปี 2562 นี้ มีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่จะได้เห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส หรือ ASP เชื่อว่าเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ น่าจะเห็นเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย ด้วย 2 เหตุผล คือ 6พ.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) รอบที่ 7 จาก 8 รอบ โดยรอบนี้ ฝ่ายวิจัยฯให้น้ำหนักมีโอกาสที่กนง.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาที่ 1.25% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือของปี 2562 -2563 ฟื้นตัวช้า เห็นได้จากล่าสุด แบงก์ชาติรายงานภาวะเศรษฐกิจเดือนก.ย. ยังบ่งชี้การชะลอตัว โดยเฉพาะส่งออกซึ่งคิดเป็น 68% ของ GDP หดตัวเฉลี่ย 2.2% นับตั้งแต่ต้นปีมา
ผลกระทบมาจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน กระทบต่อการลงทุนเอกชน สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังผลิตเดือนก.ย. ลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 64.5% ชะลอจากเดือนส.ค.ที่ 66.5% และเห็นได้จากการลงทุนในเครื่องจักรหดตัว ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือน คิดเป็น 50% ของ GDP ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่มาเร็วกว่าคาด มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงปลายปี กระทบกำลังซื้อของประชาชน
เงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือนต.ค.ขยายตัว 0.11% ชะลอจาก 0.32% ในเดือนก.ย. ส่งผลให้ดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) หรือส่วนต่างระหว่างเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่ 1.5% กว้างขึ้นเป็น 1.39% เป็นช่องว่างในการปรับลดดอกเบี้ยลงได้
ค่าเงินบาทยังแข็งค่า ล่าสุดแกว่งที่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์จากต้นปี เฉลี่ยราว 32.2 บาท ถือว่าแข็งค่ามากสุดในภูมิภาค เช่น เงินรูเปียอินโดนีเซียแข็งค่า 3%, เงินเปโซฟิลิปปินส์แข็งค่า 2.5% ขณะที่เงินริงกิตมาเลเซียและเงินรูปีอินเดียอ่อนค่า เงินบาทที่แข็งค่าทำให้ราคาสินค้าส่งออกไทยแพงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านและกระทบต่อรายรับของผู้ส่งออก
ทั้งนี้หาก กนง.ปรับบลดดอกเบี้ยตามคาดจะทำให้ Market Earning Yield Gap ขยายกว้างขึ้นไปแตะระดับ 5% โดยปัจจุบันกว้างขึ้นมาอยู่ที่ 4.85% ซึ่งเป็นระดับที่สูงมาก (ค่าเฉลี่ยนับจากปี 2551 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 4.28%) ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนจากตราสารหนี้เข้ามาสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น
นอกจากนี้การที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายโดยมีความคืบหน้าเซ็นสัญญาเฟส 1 และอาจพิจารณายกเลิกภาษีรอบ 4.1 มูลค่า 1.1 ล้านเดอลลาร์สหรัฐฯ หนุนให้ Dow Jones ปรับขึ้นทำ All Time High วานนี้ รวมถึงหากไปดู Bond Yield 10 ปี สหรัฐฯขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.78% แสดงให้เห็นถึงการโยกย้ายเม็ดเงินลงทุนจากสินทรัพย์ปลอดภัยมาสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นประเทศกำลังพัฒนาแล้ว เนื่องจากยังมี Upside เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามากกว่าตลาดหุ้นในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น หุ้นไทยปัจจุบันดัชนีฯยังต่ำจากจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี ถึง 7.20% ถือว่ายัง Laggard ตลาดหุ้นสหรัฐฯที่ทำ All Time High
รวมถึงตลาดหุ้นเยอรมนี, อินเดีย, ไต้หวัน,และญี่ปุ่น ที่ทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปีไปแล้วทั้งสิ้น และแม้ว่าเดือนพ.ย.2562 จะมีประเด็นกดดันจาก MSCI ที่ประกาศเพิ่มน้ำหนัก 5% ของ China A-Share ลงในดัชนี MSCI Emerging Market ในรอบนี้ คาดว่าจะกดดันหุ้นไทยมีโอกาสถูกเบียดให้มีสัดส่วนลดลงและ Fund Flow อาจชะลอการไหลเข้าเหมือนอดีต
แต่การปรับตัวขึ้นของดัชนีฯจากสภาพคล่องส่วนเกิน ยังสามารถคาดหวังแรงขับเคลื่อนจากสถาบันในประเทศได้ เพราะมักมีแรงซื้อ LTF กระจุกตัวช่วงที่เหลือของปี สะท้อนจากสถิติในอดีตเดือนพ.ย.มีแรงซื้อ LTF สัดส่วน 12.3% ของแรงซื้อทั้งปีและมากสุดในเดือนธ.ค. 45.1% ของทั้งปี หรือคิดเป็นเม็ดเงินรวม 2 เดือนราว 3.1 หมื่นล้านบาท คอยหนุนตลาดช่วงที่เหลือของปีได้
ข่าวเด่น