หุ้นทอง
มนุษย์เงินเดือนออมผ่านกองทุนเลี้ยงชีพมีแต่ได้กับได้...ได้เงินชัวร์...ชิลกับสิทธิภาษี


นี่ก็ใกล้สิ้นปี 2562 กันแล้ว ปีหน้าเข้าสู่ปี 2563 ใครที่ทำงานกับบริษัทเอกชนอยู่แล้วและหรือใครที่กำลังจะเข้าร่วมเป็นน้องใหม่ในบริษัทเอกชน ยังไม่คุ้นชินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และหรือบางคนรู้จักแต่ยังไม่สนใจใยดี โดยไม่เป็นสมาชิกเพราะต้องถูกหักเงินทุกเดือน


 
 
 
 
แต่วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ขอแชร์ข้อดีของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีแต่ได้กับได้ เหตุผลที่ต้องบอกเช่นนี้ เพราะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นแหล่งออมเงินให้ลูกจ้าง

ดังนั้นคุณในฐานะลูกจ้าง เมื่อไม่มีงานทำ ลาออกจากงาน บริษัทปิดกองทุนนี้ หรือเกษียณอายุ ซึ่งถ้าคุณในฐานะลูกจ้างเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถนำเงินออกไปเลี้ยงชีพตัวเองได้

ทั้งนี้มารู้จักวัตถุประสงค์หลักๆของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กันก่อนนั่นก็คือ เก็บเงินให้ลูกจ้างเอาไว้ใช้ตอนเกษียณอายุ ถือเป็นสวัสดิการหนึ่งของนายจ้าง (บริษัท) ที่มีให้กับลูกจ้าง

นอกจากนี้เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาจากลูกจ้าง (สมาชิก) ซึ่งจะถูกหักจากเงินเดือนเป็นรายเดือนเข้ากองทุน เรียกว่า เงินสะสม กับเงินจากนายจ้างที่จ่ายอีกส่วนหนึ่งเข้ากองทุนเป็นรายเดือนเช่นเดียวกัน เรียกว่า เงินสมทบจากนั้นเงินกองทุนก็จะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แล้วนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทน

ปัจจุบันเงินสะสมของลูกจ้าง สามารถนำเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละเดือนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินเดือน ส่วนเงินสมทบตามกฎหมายแล้วจะใส่เข้ามาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับกำลังของนายจ้าง

ส่วน ข้อดีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ นอกจากเงินที่ฝ่ายลูกจ้างจะได้เก็บออมแล้วยังได้รับจากนายจ้างที่สมทบให้อีกด้วย

ลองมาดูตัวอย่างกันให้เห็นถึงประโยชน์ของกองทุนประเภทนี้ นั่นก็คือ ถ้าคุณเป็นลูกจ้างมีเงินเดือน 30,000 บาท โดยในแต่ละเดือน คุณจะต้องใส่เงินเข้ามาในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 5% ของเงินเดือน หรือ 1,500 บาท ส่วนฝ่ายนายจ้างก็จะสมทบให้คุณเท่ากับเงินสะสม หมายความว่า คุณ ก็จะได้เงินสมทบอีกเดือนละ 1,500 บาท

นั่นก็คือคุณจะมีเงินออมในแต่ละเดือน 3,000 บาท แบ่งเป็นส่วนที่ตัวเองสะสม 1,500 บาท และจากนายจ้างสมทบให้อีก 1,500 บาท เหมือนลงทุนในแต่ละเดือนได้ผลตอบแทน 100%

ดังนั้นถ้าให้คุณได้ประโยชน์สูงสุด คุณควรจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในระดับสูงสุดหรือ 15% หรือในอัตราสูงสุดเท่าที่คุณจะทำได้ หรือกำลังคุณมี เพราะบางบริษัทเขามีนโยบายจ่ายเงินสมทบเท่ากับเงินที่ลูกจ้างจ่าย
เช่น ถ้าคุณสะสม 10% ของเงินเดือน นายจ้างคุณก็จะสมทบให้ 10% หรือถึงแม้ฝ่ายนายจ้างอาจจะสมทบในอัตราต่ำกว่า ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

ที่สำคัญการออมเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ ถือเป็นการเก็บเงินที่สม่ำเสมอในระยะยาว ทำให้มีวินัยในการวางแผนการเงินและยังเป็นหลักประกันได้ว่า คุณจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ

และเมื่อ บลจ.นำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปบริหาร เพื่อหาดอกผลคุณก็จะได้รับผลประโยชน์จากผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรส่วนเกิน (ตรวจสอบผลตอบแทนจากรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้รับในช่วงครึ่งปีและปลายปี) ส่วนจะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน ระดับความเสี่ยงของสมาชิก และความสามารถของ บลจ.ที่ดูแลกองทุน

นอกจากสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมีเงินใช้ในวันเกษียณแล้ว คุณยังได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีด้วย โดยเงินสะสมจะได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุดได้ไม่เกิน 500,000 บาท

ตัวอย่างเช่น เงินเดือน 35,000 บาท (รายได้ทั้งปี 420,000 บาท) สะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 15% ของเงินเดือน คือ 5,250 บาทต่อเดือน (เงินสะสมทั้งปี 63,000 บาท) ซึ่ง 63,000 บาท ไม่เกิน 500,000 บาท แสดงว่าสามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งจำนวน

วิธีนำไปคำนวณจะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เรียกว่า ลดหย่อนเงินสะสม (ส่วนที่ไม่เกิน 10,000 บาท) ส่วนสอง เรียกว่า ยกเว้นเงินสะสม (ส่วนที่เกิน 10,000 บาท) เมื่อนำไปหักกับค่าใช้จ่าย ลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะลดลง 63,000 บาท ตามตัวอย่างเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะเหลือ 197,000 บาท แต่ถ้าไม่เป็นสมาชิกกองทุนนี้ เงินได้สุทธิที่ต้องนำไปเสียภาษีจะเท่ากับ 260,000 บาทและตามอัตราภาษีก้าวหน้า เงินได้สุทธิ 197,000 บาท ต้องเสียภาษี 5% เมื่อคำนวณแล้วจะประหยัดภาษีได้ปีละ 3,150 บาท

และนี่ก็คือประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วันนี้แม้คุณจะยังละล้าละลัง มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯขอแนะนำเลยว่า ตัดสินใจสมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลย เพราะมีแต่ได้กับได้จริงๆนะจะบอกให้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 พ.ย. 2562 เวลา : 22:36:33
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 6:22 pm