คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการออมระยะยาวเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ประกอบด้วย การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จะมุ่งเน้นให้กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงน้อยและผู้ที่เริ่มต้นวัยทำงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อจูงใจให้ประชาชนกลุ่มเหล่านี้ ได้เริ่มต้นการออมระยะยาวโดยเร็ว
ดังนั้นวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอชี้ให้เห็นว่า กองทุน SSF ต่างจากกองทุน LTF ยังไง
กองทุน SSF หรือ Super Savings Fund คือ กองทุนเพื่อการออมที่ให้สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีที่ออกมาใหม่ เพื่อทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF ที่กำลังจะสิ้นสุดในปี 2562 นี้ โดยกองทุน SSF มีข้อกำหนดและหลักเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างจากกองทุน LTF ดังนี้
กองทุน SSF สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท
กองทุน SSF ให้บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับเงินที่จ่ายป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยเมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติหรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี ผู้ซื้อกองทุน SSF สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ต่อเมื่อถือครองมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
ทั้งนี้ผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุนใน SSF และนำค่าซื้อมาหักลดหย่อนภาษีได้เป็นระยะเวลา 5 ปี (ปี 2563-2567) โดยหลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณาอีกที
ขณะที่กองทุน RMF นั้น ก็มีการ Update หลักเกณฑ์ใหม่ โดยเริ่มใช้ปี 2563 โดยเฉพาะการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สำหรับผู้ลงทุนซื้อกองทุน RMF ดังนี้
การปรับสัดส่วนการหักลดหย่อนภาษี สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน RMF จากเดิมไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน เป็นไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยยังคงกำหนดวงเงินหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ (กองทุน SSF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนออมได้มากขึ้น
การยกเลิกการกำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อกองทุน RMF จากเดิมกำหนดให้ซื้อไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้พึงประเมิน หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่าเพื่อให้ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงน้อยสามารถซื้อกองทุน RMF ได้ โดยยังคงกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปีและไม่ระงับการซื้อเกิน 1 ปีติดต่อกันเช่นเดิม
ดังนั้นเมื่อคุณรู้เงื่อนไขใหม่ของ 3 กองทุนเพื่อการออมและลดหย่อนภาษีกันไปแล้ว คุณสะดวก หรือชอบแบบไหน หรือคุณถูกจริตกับกองทุนแบบใด คุณก็เลือกซื้อ หรือเลือกใช้สิทธิกันตามความต้องการ เพราะไม่ว่าคุณจะลงทุนในกองไหนๆ ก็ช่วยให้คุณมีเงินออมก้อนโตเก็บไว้ใช้ยามเกษียณแน่นอน
ข่าวเด่น