คนส่วนใหญ่หันมาให้ความนิยม การออมและการลงทุนผ่านกองทุนรวมกันมากขึ้น หรือเป็นที่ยอมรับเยอะขึ้น เพราะคุณสามารถเริ่มลงทุนได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยกระจายความเสี่ยงและมีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการและความสามารถในการรับความเสี่ยงที่แตกต่างกันของทั้งคุณและผู้ออมคนอื่นได้
แน่นอนการลงทุนมีความเสี่ยง หากคุณลงทุนในกองทุนรวมแล้ว ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คุณวางไว้ คุณต้องทำอย่างไร เรื่องนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและธชธร สมใจวงษ์ มีคำตอบคือ คุณยังสามารถทบทวนปรับเปลี่ยนได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ กองทุนรวมที่ซื้อและแผนการลงทุน
สำหรับกองทุน มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และธชธร สมใจวงษ์ เชื่อว่าคุณสามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้กับดัชนีชี้วัด (Benchmark) ของกองทุนนั้นๆ รวมถึงการเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน
เพราะกองทุนรวมทุกกอง จะระบุดัชนีชี้วัดที่จะใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน โดยขึ้นอยู่กับประเภทของสินทรัพย์ที่คุณลงทุน เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่จะกำหนดดัชนีชี้วัด เพื่อเปรียบเทียบเป็น ดัชนีผลตอบแทนรวม SET50 (SET50TRI) รวมทั้งผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนต่างราคาและผลตอบแทนจากเงินปันผล
ดังนั้นคุณสามารถพิจารณาเบื้องต้นว่า กองทุนที่ถืออยู่ผลตอบแทนเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับดัชนีชี้วัด เช่น หากดัชนีชี้วัดมีผลการดำเนินงาน -8% แต่กองทุนที่คุณลงทุนได้ผลการดำเนินงาน -5% ก็ยังถือว่ากองทุนที่คุณลงทุน ยังมีผลการดำเนินงานดีกว่าตัวเปรียบเทียบ
ตรงกันข้าม หากกองทุนที่คุณลงทุน มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าดัชนีชี้วัด คุณก็อาจเริ่มตั้งข้อสังเกตไว้ และถ้าหากคุณได้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีชี้วัดอย่างต่อเนื่อง คุณก็ควรพิจารณาขายกองทุนที่ถืออยู่ เพื่อเปลี่ยนไปลงทุนกองทุนใหม่ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
สำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับกองทุนอื่นๆ ที่อยู่ในประเภทเดียวกัน คุณสามารถอ้างอิงข้อมูลในส่วนผลการดำเนินงานย้อนหลัง จากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุป (Fund Fact Sheet) ของกองทุนต่างๆ อย่างตัวอย่างด้านล่างนี้
จากตัวอย่างเป็นผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น จึงเปรียบเทียบกับกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน เครื่องหมายดาวสีแดง คือ ผลการดำเนินงานของกองทุนที่กำลังพิจารณาลงทุน
ส่วนค่า Peer Percentile สำหรับช่วงเวลาต่างๆ คือ ผลการดำเนินงานในแต่ละระดับของกองทุนอื่นๆ ที่คุณลงทุนในหุ้นเช่นเดียวกัน
ค่า Percentile ต่ำๆ อยู่ด้านบนของตาราง คือ ผลการดำเนินงานของกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีในลำดับต้นๆ และตรงกันข้ามกับ Percentile สูง อยู่ด้านล่างของตาราง คือ กองทุนหุ้นที่ทำผลการดำเนินงานได้ในลำดับท้ายๆ
จะเห็นได้ว่า กองทุนจากตัวอย่าง ทำผลการดำเนินงานในระดับที่ค่อนข้างดีภายในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา แต่ในระยะสั้น 3 เดือน ผลการดำเนินงานปรับลดลง นักลงทุนยังไม่ต้องเปลี่ยนกองทุนในทันที เพราะเป็นการลงทุนในหุ้น ซึ่งมีความผันผวนที่เกิดขึ้นได้ในระยะสั้น แต่ถ้าผลการดำเนินงานของกองทุนที่คุณลงทุนปรับลดลงสู่ Percentile ระดับ 50 อย่างต่อเนื่องในเกือบจะทุกช่วงระยะเวลาก็ควรปรับเปลี่ยนไปยังกองทุนอื่นที่มีผลการดำเนินงานดีกว่า
นอกจากการทบทวนปรับเปลี่ยนกองทุนแล้ว แผนการลงทุนก็เป็นสิ่งที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยคุณสามารถปรับเพิ่มเงินต้นหรือเงินงวด เพื่อเพิ่มเม็ดเงินที่จะสร้างผลตอบแทนให้คุณมากขึ้น เช่น เป้าหมายคุณต้องการได้เงิน 100,000 บาท หากลงทุนเดือนละ 1,000 บาท โดยได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 8% คุณต้องใช้เวลา 7 ปี (ตารางที่ 1) คุณถึงจะได้เงินก้อนที่คุณตั้งเป้าหมาย
แต่หากเพิ่มเงินออมเป็นเดือนละ 1,200 บาท คุณจะใช้เวลาลดลงมาเหลือประมาณ 6 ปี (ตารางที่ 2) และถ้าออมเดือนละ 1,500 บาท จะใช้เวลาลดลงเหลือประมาณ 5 ปี (ตารางที่ 3)
ในกรณีที่เป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการ มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ อาจเพิ่มระยะเวลาในการลงทุนให้นานขึ้น การยืดระยะเวลาการลงทุนจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับความเสี่ยงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย เช่น หากคุณต้องการเงิน 100,000 บาทเหมือนเดิม โดยเก็บเงินออมลงทุนงวดละ 1,000 บาท แต่หาผลตอบแทนได้เฉลี่ยปีละ 4% ระยะเวลาที่ใช้ในการบรรลุเป้าหมายก็จะขยับออกไปเป็นประมาณ 8 ปี (ตารางที่ 4)
ในทางปฏิบัติจริง คุณสามารถใช้วิธีต่างๆร่วมกัน เช่น ในสถานการณ์ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนติดลบ แต่หากเปรียบเทียบทั้งดัชนีชี้วัดของกองทุนและกองทุนอื่นๆ ในประเภทเดียวกันแล้ว กองทุนที่คุณลงทุนอยู่นั้น ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า คุณอาจพิจารณาเพิ่มเงินงวดลงทุน ซึ่งจะทำให้ซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้น
ส่วนข้อควรระวังในการติดตามผลการดำเนินงานของกองทุน ในกรณีที่มีการกระจายการลงทุนในรูปแบบของพอร์ตลงทุน คือ คุณต้องพิจารณาการดำเนินงานในภาพรวมของทุกกองทุน
เช่น ในตารางที่ 5 แสดงถึงการพิจารณาผลตอบแทนแยกย่อยสำหรับแต่ละกองทุน จะพบว่ากองทุน A, B และ C ให้ผลตอบแทนเป็น -10%, -15% และ +20% ตามลำดับ
แต่เมื่อพิจารณาผลตอบแทนโดยรวมที่ได้อยู่ที่ +10.25% ซึ่งหากผลตอบแทนนี้ใกล้เคียง หรือสูงกว่าผลตอบแทนที่คาดหวังที่ใช้ในการวางแผนการลงทุนตั้งแต่เริ่มต้น แสดงว่า แผนการลงทุนของคุณยังเป็นไปตามเป้าหมายที่คุณวางไว้
ดังนั้นความเสี่ยงและความผันผวนที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการลงทุน ในกรณีที่ผลตอบแทนที่เกิดขึ้น โดยไม่เป็นไป
ตามเป้าหมายหรือแผนการที่คุณวางไว้ การทบทวนองค์ประกอบต่างๆ ทั้งในระดับกองทุน การกำหนดสัดส่วนการลงทุน รวมถึงแผนการลงทุนจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล โดยปราศจากอคติ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จ และใช้ประโยชน์จากความผันผวนที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
ข่าวเด่น