การทำ window dressing หรือที่เราเรียกกันง่ายๆว่า การทำราคาปิดหุ้นสิ้นงวดบัญชีของผู้ลงทุนสถาบันนั่นเอง หากเราไปดูตลาดหุ้นไทยช่วงเกือบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาของเดือนธ.ค.พบว่าสถาบันในประเทศยังเป็นผู้หนุนตลาดอย่างสม่ำเสมอ โดยซื้อสุทธิหุ้นไทยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท (mtd) ขณะที่ก่อนหน้านี้พอร์ตโบรกเกอร์ช่วยเสริม โดยการซื้อสุทธิสูงถึง 4.2 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อที่สูงสุดในปีนี้
สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP คาดว่าแรงขับเคลื่อนหลัก มาจากการซื้อ LTF ปีสุดท้ายที่น่าจะมีเม็ดเงินมากระจุกตัวอยู่ในช่วงท้ายปีในปริมาณมาก (กองทุน LTF มีสัดส่วนทรัพย์สินเกือบ 50% ของกองทุนหุ้นไทยทั้งหมดในประเทศ)
จากสถิติในอดีตย้อนหลัง 5 ปี ยังบ่งชี้ว่าช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนธ.ค. สถาบันฯซื้อสุทธิหุ้นไทยเฉลี่ยสูงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการซื้อสุทธิทุกปี บวกกับแรงขายของต่างชาติน่าจะทุเลาลง เนื่องจากกำลังเข้าสู่เทศกาลหยุดยาววันคริสต์มาสจนถึงปีใหม่ ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิด Window Dressing หรือการดันราคาหุ้นของนักลงทุนสถาบันฯ เพื่อให้พอร์ตที่ลงทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ฝ่ายวิจัย ASP จึงทำการคัดกรองค้นหาหุ้นขนาดใหญ่ (อยุ่ใน SET50) ที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และมักจะถูกไล่ราคาช่วงโค้งสุดท้ายของปีเสมอ คือ LH, CPF และ PTT เป็นหุ้น Top Picks
ทั้งนี้ PTT ช่วงครึ่งหลังของเดือนธ.ค. ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.7% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) และมีบางปีปรับตัวขึ้นได้เกือบ 5% ขณะที่ราคาหุ้นตอนนี้ น่าจะตอบรับประเด็นคดีโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครไประดับหนึ่งแล้ว
อีกทั้งแนวโน้มกำไรน่าจะผ่านจุดต่ำสุดและฝ่ายวิจัยฯ คาดกำไรปกติงวดไตรมาส 4/2562 จะฟื้นตัวขึ้น qoq หนุนจาก PTTEP ที่คาดจะได้ในส่วนของปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นราว 5.7% qoq ขณะที่ Valuation ยังให้ผลตอบแทนรวมจูงใจ โดยมี Dividend Yield สูงกว่า 4.7% ต่อปี (จ่ายปันผลปีละ 2 ครั้ง)
นอกจากนี้ PTT เป็นหุ้นลำดับแรกที่กองทุนนิยมถือมากที่สุด และราคายัง Laggard ราคาน้ำมันอยู่มาก โดยหุ้น PTT เพิ่มขึ้น 2.3%mtd, ราคาน้ำมันดิบโลก 10.7%mtd
ขณะที่ LH ช่วงครึ่งหลังของเดือน ธ.ค. มักปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 3.8% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) ขณะที่จุดเด่น มาจากฐานธุรกิจที่มั่นคง แนวโน้มกำไรงวดไตรมาส 4/2562 สูงสุดของปีจากการโอนคอนโดและขายโรงแรมเข้า LHHOTEL หนุนเงินปันผลพิเศษที่คาด Div Yield กว่า 7% ต่อปี และได้อนิสงค์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โครงการ “บ้านดีมีดาวน์”
ส่วน CPF ช่วงครึ่งหลังของเดือนธ.ค. มักปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0% (ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี) และมีบางปีปรับตัวขึ้นได้กว่า 7% มีปัจจัยบวกจากราคาสุกรปรับขึ้น 3.2% จากสัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 64 บาทต่อกก. หนุนจากการเข้าช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
นอกจากนี้ราคาสุกรในประเทศเวียดนามยังยืนสูงต่อเนื่องที่ระดับ 7 หมื่นดองต่อกก. (96 บาทต่อกก.) ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากปัญหาสุกรขาดแคลน เพราะโรคอหิวาต์แอฟริการะบาดหนักในเวียดนาม ส่งผลบวกต่อโดยตรงต่อ CPF ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจสุกรในเวียดนาม 7% ทำให้ได้ผลบวกจากราคาสุกรที่เพิ่มขึ้นเต็มที่ตั้งแต่ไตรมาส 4/2562 เป็นต้นไป
สำหรับราคาไก่ยังทรงตัวในระดับที่ดีต่อเนื่องที่ 36 บาทต่อกก. ฟื้นตัวจากทั้งการบริโภคในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น (นำเข้าไก่ทดแทนสุกรที่ขาดตลาด) และญี่ปุ่น (เพิ่มคำสั่งซื้อไก่ รองรับการจัดโอลิมปิกในปี 2563) ราคาหุ้นปัจจุบันมีค่า PER ปี 2563 เพียง 12.2 เท่า และสามารถคาดหวัง Div yields เฉลี่ย 3% p.a.
ข่าวเด่น