หลายๆครั้ง ที่คุณคงเคยหรืออย่างน้อยคุณอาจจะเกิดอาการลังเลใจกับโปรโมชั่นการผ่อนสินค้าดอกเบี้ย 0% เรียกว่าพอเห็นแล้วตาลุกวาว“ดีจัง สินค้าชิ้นนี้สามารถผ่อน 0% ได้ด้วย กำลังคิดอยากได้สินค้านั้นอยู่พอดี” แถมคุณบอกตัวเองด้วยว่าของแบบนี้ ต้องมีไว้ ยิ่งตอนนี้ให้คุณผ่อน0% ด้วย คิดเป็นต่อเดือนแล้วไม่มากเท่าไร น่าจะพอจ่ายไหว เอาไว้ก่อนก็แล้วกัน
มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณอลงกรณ์ สวัสดิภาพ บอกว่ากับดักทางการตลาดแบบนี้ สามารถทำให้คุณและหลายๆคนไขว้เขวมานักต่อนักแล้วแต่คำถามตามมาคือ ผ่อน 0% ไม่ดีตรงไหน ก็จ่ายต่อเดือนน้อยลง
ดังนั้นมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณอลงกรณ์ ขอเน้นย้ำว่าการที่คุณจะใช้บริการซื้อสินค้าเงินผ่อน โดยเฉพาะการผ่อน 0% จริงๆแล้วมีทั้งประโยชน์และข้อควรระมัดระวัง เริ่มจาก ดอกเบี้ย 0% เป็นสัญญาตลอดหรือแค่ชั่วคราว เช่น ต้องการผ่อนสินค้าระยะเวลา 12 เดือน แต่ดอกเบี้ย 0% แค่ 3 เดือน หรือแค่ 6 เดือน ซึ่งมักจะเจอโปรโมชั่นแบบนี้กับสินค้าที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง หากเจอเงื่อนไขแบบนี้คุณต้องชั่งใจกันดีๆว่าเป็นสินค้าที่ต้องการจริงหรือไม่ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยในช่วงหลังๆ จนกว่าจะผ่อนสินค้าหมดไป
ดังนั้นก่อนตัดสินใจผ่อนหรือซื้อสินค้าผ่อน 0% คุณต้องพิจารณาก่อนว่า สินค้าหรือบริการนั้นเป็นสิ่งที่ “จำเป็น” หรือไม่ เพราะหากเป็นสินค้าหรือบริการที่จำเป็น เช่น ผ่อนชำระเบี้ยประกัน หรือสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพก็มีความเหมาะสม ในทางกลับกันหากเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย ซื้อเพื่อตอบสนองความอยากส่วนตัวก็จะเป็นการเพิ่มภาระหนี้
ที่สำคัญ คุณไม่ควรไร้วินัยหากคุณต้องการใช้บริการผ่อน 0% การวางแผนเรื่องการใช้เงินเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะเรื่องรายรับ ร่ายจ่าย เพราะการผ่อนสินค้า 0% หากพิจารณากันแล้วก็คือ การนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ลองย้อนกลับมาดูรายได้และลองเปรียบเทียบกับรายจ่าย นั่นคือ ไม่ควรมีหนี้สินเกินกว่า 40 - 45% ของรายได้ในแต่ละเดือน
สมมติมีเงินเดือน 30,000 บาท หนี้สินต่อเดือนไม่ควรเกิน 12,000 - 13,500 บาท หากมีหนี้สินอื่นอยู่แล้ว ก่อนที่คุณจะก่อหนี้ก้อนใหม่ คุณก็ควรคำนึงว่าจะทำให้ภาระหนี้รวมเกินไปหรือไม่
เพราะเมื่อมีหนี้สูง ถึงแม้ว่าจะเป็นการผ่อนชำระที่ไม่เสียดอกเบี้ย แต่จะกระทบรายจ่ายประจำในแต่ละเดือน อาจจะทำให้คุณติดปัญหาสภาพคล่องได้
ดังนั้นถ้าไม่อยากก่อหนี้จนเกินตัวผ่านการผ่อน 0% ก่อนอื่นคุณควรหักห้ามใจ คุณต้องประเมินรายได้ รายจ่ายของตัวเอง เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าเบี้ยประกัน ค่าอาหาร ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทางและค่าโทรศัพท์ เมื่อนำรายได้มาหักรายจ่ายก็จะรู้ว่ามีเงินเหลือเท่าไหร่
ที่สำคัญคุณต้องหมั่นฝึกการ “จดค่าใช้จ่าย” ทุกอย่างที่ใช้ เท่านี้ก็เป็นการประเมินสถานะทางการเงินเบื้องต้นได้แล้ว
ข่าวเด่น