หลักทรัพย์บัวหลวง เปิดกลยุทธ์การลงทุน พิชิตตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน ด้วย“หลักการ Asset Allocation” เน้นกระจายเงินลงทุนใน 5 สินทรัพย์หลัก เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยง พร้อมเผยธีมการลงทุนเด่นปี 63 รับมือปัจจัยลบในต่างประเทศ
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยยังคงอยู่ในภาวะผันผวนต่อเนื่องมาจากปี 62 จากภาวะความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน และปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน แม้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายแล้วระดับหนึ่ง หลังสหรัฐฯได้ลงนามข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกกับจีนอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่ยังคงต้องจับตาดู 2 ประเด็นอย่างใกล้ชิด คือ 1.สหรัฐฯและจีน จะสามารถบรรลุข้อตกลงเฟส 2 เรื่องที่จะให้จีนเปิดตลาดการเงินและสิทธิทางปัญญาได้ภายในปีนี้หรือไม่ และ 2.สงครามตะวันออกกลาง ซึ่งเรื่องนี้ยากต่อการคาดเดา
ท่ามกลางปัจจัยลบของต่างประเทศ ผู้ลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการลงทุน แนะนำให้ใช้หลักการ “จัดสรรพอร์ตการลงทุน” หรือ Asset Allocation เพื่อรักษาระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากพอร์ตลงทุนปี 62 ของหลักทรัพย์บัวหลวงที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีอีกครั้ง โดยพอร์ตลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) ,แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และแบบเชิงรุก (Aggressive) มีผลตอบแทนนับจากต้นปี 62 ถึงปลายปีที่ระดับ 7.1% ,10.4% และ 14.0% ตามลำดับ สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในช่วงเดือนก.พ.62 ที่ระดับ 3.2%, 5.1% และ 7.2%
ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ควรเน้นกระจายความเสี่ยงออกไปใน 5 สินทรัพย์หลัก คือ 1. ตลาดหุ้น สัดส่วนลงทุนประมาณ 23% แบ่งเป็นหุ้นไทยประมาณ 9% หุ้นเวียดนามประมาณ 9% และหุ้นสหรัฐฯประมาณ 5% ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีอัพไซด์ค่อนข้างจำกัด เพราะกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 63 อาจขยายตัวได้ไม่มากนัก ขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนามและตลาดหุ้นสหรัฐฯยังมีโมเมนตัมที่ดี
โดยเฉพาะตลาดหุ้นเวียดนาม เราคาดว่าในปี 63 อาจมีกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามาต่อเนื่อง เพราะเวียดนามเป็นประเทศปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการลงทุนจากต่างชาติในเอเชีย หลังกระทรวงวางแผนและการลงทุนของเวียดนามได้สนับสนุนให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น เทคโนโลยีขั้นสูง, พลังงาน และการส่งออก เป็นต้น
2. กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ประเภทอาคารสำนักงานให้เช่าและค้าปลีก สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 13% หลังส่วนต่างอัตราผลตอบแทนระหว่างดัชนีกองทุนรวมอสังหาฯและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี อยู่ระดับ 3.28% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4 ปี 1.6 เท่า 3.ทองคำ สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 16% เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเติบโตเศรษฐกิจขยายตัวน้อยกว่าคาดการณ์ และเหตุการณ์สงคราม จากการวิเคราะห์เชิงปริมาณ คาดว่าในเดือนม.ค.นี้ ราคาทองคำจะแกว่งในกรอบ 1,491-1,620 เหรียญต่อออนซ์ 4.ตลาดเงิน สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 6% และ 5.หุ้นกู้ภาคเอกชนระดับ BBB+ขึ้นไป สัดส่วนลงทุนเฉลี่ย 42%
กูรูด้านการลงทุน กล่าวถึงมุมมองตลาดหุ้นไทยปี 63 ว่า ดัชนีอาจแกว่งตัวเหมือนปีก่อน โดยให้กรอบบนที่ระดับ 1,680-1,695 จุด บนค่า P/E 16.5 เท่า และกรอบล่างระดับ 1,480-1,500 จุด บนค่า P/E 14.5 เท่า ส่วนกำไรต่อหุ้น (ESP) ของบริษัทจดทะเบียนอาจอยู่ระดับ 102 บาทต่อหุ้น เติบโตประมาณ 22% จากปี 62 ที่อยู่ระดับ 83 บาทต่อหุ้น
สำหรับธีมการลงทุน เน้นลงทุนในหุ้น 3 กลุ่ม คือ 1.หุ้นที่มีความปลอดภัย (Defensive Stock) เช่น กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ (หุ้นรถไฟฟ้า) ,กลุ่มโรงไฟฟ้า ,กลุ่มหุ้นค้าปลีก และกลุ่มไฟแนนซ์ 2.กลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มน้ำมันที่จะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตของโลก 3.กลุ่มรับซื้อและปรับโครงสร้างหนี้ เช่น หุ้น BAM ,หุ้น JMT และหุ้น CHAYO ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวัง คือ กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเรื่องความต้องการซื้อชะลอตัว และกลุ่มธนาคารที่ต้องระวังเรื่องการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น
“มอร์แกน สแตนลีย์ วิเคราะห์ว่าภาวะตึงเครียดของตะวันออกกลาง อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดว่าปีนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI จะอยู่ระดับเฉลี่ย 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่อยู่ระดับ 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ อาจอยู่ระดับเฉลี่ย 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล” นายชัยพร กล่าว
ข่าวเด่น