แหล่งลงทุน เพื่อการออมในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น หรือตลาดทองคำ หรือแม้การลงทุนในสินทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้อย่างอสังหาริมทรัพย์ เริ่มมีความผันผวน
แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังอีกหลายแหล่งลงทุน ที่น่าสนใจ และมีความผันผวนน้อยกว่า นั่นก็คือ Unit Linked วันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และคุณณัฐพงษ์ อภินันท์กูล พาคุณมารู้จักกับ Unit Linked กันแบบละเอียด
ทั้งนี้ Unit Linked หรือประกันควบการลงทุน เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ให้ทั้งความคุ้มครองในกรณีเสียชีวิต และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เบี้ยประกันที่จ่ายไป
โดยแบ่งเป็นส่วนของการคุ้มครองชีวิต หรือทุพพลภาพ ตามแต่ความคุ้มครองที่ระบุในกรมธรรม์ และส่วนของการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนที่เลือกลงทุน การนำเอาประกันชีวิตมารวมกับการลงทุนจึงอาจมองได้ว่า Unit Linked เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนประเภทหนึ่ง เนื่องจากไม่สามารถรับประกัน (ระบุ) ผลตอบแทนเมื่อครบกำหนดรับเงินคืนกรมธรรม์ได้เช่นเดียวกับประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบตลอดชีวิต
เพราะผลตอบแทนที่เกิดขึ้นของ Unit Linked จะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนที่เลือกไว้ ต่างไปจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ หรือแบบตลอดชีพที่บริษัทประกันนำเบี้ยประกันหลังหักค่าใช้จ่ายไปบริหารการลงทุน และจ่ายคืนให้แก่ผู้เอาประกันตามที่ระบุไว้ โดยที่บริษัทประกันชีวิตเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการลงทุน
เหมาะกับใครบ้าง
การตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ Unit Linked มี 2 ช่องทาง แต่ละช่องทางมีคำถามที่ต้องตอบ คำถามที่ช่องทางแรก คือ คุณต้องการทุนประกันชีวิตหรือไม่
หากมีทุนประกันชีวิตเพียงพออยู่แล้ว ไม่ต้องการทุนประกันชีวิตเพิ่มเติม คุณต้องการแต่การลงทุน แสดงว่าคุณไม่มีความต้องการใช้ช่องทางแรก คุณจึงควรนำเงินไปลงทุนโดยตรง
“ไม่ต้องซื้อการลงทุนผ่านการทำประกัน แต่หากคุณมีความต้องการคุ้มครองชีวิต แสดงว่าได้เดินผ่านช่องทางแรกมาแล้ว”
ส่วนคำถามสำหรับช่องทางที่สอง คือ รับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ไหม
หากคุณรับความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ได้ (หรือไม่ต้องการเงินคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา) แสดงว่าคุณไม่ต้องการใช้ช่องทางที่สอง คุณจึงควรพิจารณาทำประกันแบบอื่น เช่น ประกันสะสมทรัพย์ ประกันตลอดชีพ (กรณีต้องการระบุจำนวนเงินคืนแน่นอน) หรือประกันแบบชั่วระยะเวลา (กรณีไม่ต้องการเงินคืนเมื่อสิ้นสุดสัญญา) แต่หากสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ แสดงว่าได้เดินผ่านช่องทางที่สอง
ดังนั้น ประกัน Unit Linked จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการทุนประกันชีวิต และรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้
นอกจากนี้ คุณควรต้องมีความรู้ ความสนใจในการติดตามสถานการณ์ลงทุน เพื่อจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของตนเอง
ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการซื้อ Unit Linked
ความต้องการคุ้มครองความเสี่ยง พิจารณาก่อนว่าทุนประกันที่เหมาะสมควรเป็นเท่าใด เพื่อประเมินว่าเบี้ยที่จ่ายไปจะเป็นส่วนการประกันชีวิต และเป็นส่วนการลงทุนเท่าใด รวมไปถึงการพิจารณาสัญญาแนบเพิ่มเติมด้านประกันสุขภาพเช่น การรักษาตัวในโรงพยาบาล การรักษาหรือค่าชดเชยโรคร้ายแรงเป็นต้น
ความสามารถในการรับความเสี่ยง พอร์ตการลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงสอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยง มูลค่าเงินสดของกรมธรรม์จะขึ้นอยู่กับผลตอบแทนจากพอร์ตการลงทุน และมูลค่าเงินสดจะปรับตัวผันผวนตามผลการดำเนินงานของพอร์ตการลงทุนเช่นกัน
วัตถุประสงค์ของการลงทุน Unit Linked สามารถเลือกสินทรัพย์ลงทุน และสัดส่วนการลงทุนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงทุน
ระยะเวลาในการลงทุน การถือครอง Unit Linked อาจถือครองจนครบกำหนดสัญญา หรืออาจเวนคืนมูลค่ากรมธรรม์ก่อนครบสัญญาได้ ดังนั้น ควรนำระยะเวลาในการลงทุนมาปรับให้สอดคล้องกับสัดส่วนการลงทุนอย่างเหมาะสมเช่นกัน
ข้อดี
มีความยืดหยุ่น โดยผู้ถือกรมธรรม์ Unit Linked สามารถปรับเปลี่ยนทุนประกันชีวิตให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละช่วงชีวิต (บริษัทประกันส่วนใหญ่อนุญาตให้ปรับลดทุนประกันชีวิตได้ ตามความต้องการความคุ้มครองที่ลดลง เมื่ออายุมากขึ้นและมีทรัพย์สินมากขึ้น หรือมีภาระน้อยลง)
หรือสามารถหยุดชำระเบี้ยประกันโดยความคุ้มครองยังดำเนินต่อไป หากมีเงินลงทุนสะสมไว้เพียงพอและถอนมาจ่ายเป็นเบี้ยประกัน
มีความโปร่งใส ทั้งนี้ Unit Linked แสดงให้เห็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการทำประกันชีวิต เช่น ต้นทุนค่าประกันชีวิต (COI) ค่าธรรมเนียมในการรักษากรมธรรม์ ค่าใช้จ่ายในการลงทุน รวมไปถึงค่าคอมมิชชัน
ดังนั้น คุณไม่ต้องตกใจหากตอนสิ้นปีแรก ตรวจสอบแล้วพบว่า มูลค่าเงินลงทุนมีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของเบี้ยประกันที่จ่ายไปทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนให้ผลตอบแทนติดลบหนักถึง 50% แต่เป็นการหักค่าใช้จ่ายปีแรกที่อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับกรมธรรม์แบบอื่นๆ เพียงแต่ผู้ซื้อประกันไม่ค่อยได้สังเกตเห็นความโปร่งใสของการคิดค่าใช้จ่ายในกรมธรรม์แบบอื่น
โอกาสในการได้รับผลตอบแทนมากขึ้น เบี้ยประกันของ Unit Linked เหมือนกับประกันแบบอื่น คือมีการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกันชีวิตก่อน แล้วส่วนที่เหลือจึงนำไปหาผลตอบแทน
ทั้งนี้ ประกันแบบออมทรัพย์ หรือแบบตลอดชีพนั้น มีการระบุผลตอบแทน และมีลักษณะเป็นสัญญาชัดเจนว่าจะได้คืนเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงมีกฎระเบียบของทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ควบคุมดูแลพอร์ตการลงทุนของบริษัทประกันชีวิตไม่ให้ลงทุนเสี่ยงมากนัก
ดังนั้น จึงต่างจาก Unit Linked ที่ผู้ถือกรมธรรม์สามารถเลือกพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ และความสามารถในการรับความเสี่ยงของตนเอง และอาจสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า (หรือต่ำกว่า) ได้ในระยะยาว
ข้อควรระวัง
ไม่มีการรับรองผลตอบแทนที่จะได้รับ ผู้ถือกรมธรรม์เป็นผู้เลือกการลงทุนเอง และไม่สามารถรับรองผลการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างแน่นอน มูลค่าเงินสดอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามพอร์ตการลงทุน หากว่ามีการลงทุนในหุ้น และตลาดหุ้นเกิดการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง มูลค่าเงินสดก็จะปรับตัวลดลงตาม
เบี้ยประกันทั้งหมดที่จ่ายไปอาจจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายสำหรับความคุ้มครอง ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการประกันชีวิตของ Unit Linked จะถูกถอนออกจากบัญชีเงินลงทุนเป็นรายเดือน ในกรณีที่ผู้ทำประกันเลือกความคุ้มครองสูง และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนการทำประกันชีวิตจะเพิ่มขึ้นตาม
หากว่าสินทรัพย์ที่ลงทุนมีการปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก มีโอกาสที่บัญชีเงินลงทุนจะไม่เพียงพอให้ถอนมาชำระค่าใช้จ่ายในด้านความคุ้มครอง
สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ของ Unit Linked แตกต่างไปจากกรมธรรม์ประกันชีวิตอื่นที่มีระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันของ Unit Linked ไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมดเช่นเดียวกับประกันชีวิตอื่น ส่วนของการลงทุนจะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้
จะเห็นได้ว่าการลงทุน มีความหลากหลาย และมีความเสี่ยง มีข้อดี ข้อเสีย แตกต่างกันไป ดังนั้นเพื่อความระมัดระวัง นอกจากศึกษาข้อมูลให้ดีแล้ว คุณควรถามตัวเองด้วยว่า คุณสามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน
ข่าวเด่น